การจัดกลุ่มกฎหมาย

ในทางทฤษฎีกฎหมาย มีการจัดกลุ่มกฎหมายของประเทศต่างๆ  ตามที่มีความคิดซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบกฎหมายประเทศนั้นๆ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก

  1. กลุ่มกฎหมายแห่งตระกูล Civil Law
  2. กลุ่มกฎหมายแห่งตระกูล Common Law
  3. กลุ่มกฎหมายแห่งตระกูลกฎหมายสังคมนิยม 
  4. กลุ่มกฎหมายแห่งตระกูลกฎหมายอิสลาม

ประเทศที่มีระบบกฎหมายแห่งตระกูล Civil Law ได้แก่ประเทศทั้งหลายที่มีวิทยาการกฎหมายก่อกำเนิดบนพื้นฐานของกฎหมายโรมัน ได้แก่ ประเทศในภาคพื้นทวีปยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน เยอรมัน ระบบกฎหมายของประเทศเหล่านั้นมีเอกลักษณ์ที่สำคัญ คือ วิทยาการกฎหมาย มีบทบาทสำคัญในการให้คำจำกัดความของ “กฎหมาย”  นอกจากนี้ในประเทศเหล่านั้นมีการจัดทำประมวลกฎหมายในคริสตศตวรรษที่ 19 

ถ้าเปรียบเทียบตระกูลกฎหมายดังกล่าวกับตระกูล Common Law มีความแตกต่างในสาระสำคัญประการหนึ่งคือ ในประเทศท่ี่มีระบบกฎหมายจัดอยู่ในตระกูล Common Law ไม่มีการจัดทำประมวลกฎหมาย

ระบบกฎหมายของประเทศไทย

ประเทศไทย เป็นประเทศที่จัดทำประมวลกฎหมาย (Code) ตามแบบอย่างของประเทศทั้งหลายที่มีระบบกฎหมายจัดอยู่ในตระกูล Civil Law

ความหมายของกฎหมาย

ความหมายของกฎหมายตามทฤษฎีกฎหมายของไทย สอดคล้องกับคำจำกัดความของกฎหมายที่ใช้ในประเทศที่มีระบบกฎหมายจัดอยู่ในตระกูล Civil Law

“กฎหมาย” คือ “กฎแห่งความประพฤติซึ่งเป็นนามธรรมและเป็นกฎทั่วไปที่ใช้บังคับแก่ความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งสมาชิกของสังคมต้องปฎิบัติตาม โดยรัฐซึ่งทรงไว้ซึ่งอำนาจมหาชนจะบังคับตามกฎนั้น

ลำดับชั้นของกฎหมาย

กฎหมายตามความหมายดังกล่าวมีหลายประเภท แต่ละประเภท มีศักดิ์ไม่เท่ากัน จึงมีการจัดระบบชั้นของกฎหมายโดยมีหลักการคือ กฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้นที่สูงกว่าใช้บังคับแก่กฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้นที่ต่ำกว่า ดังนั้นกฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้นที่ต่ำกว่าจึงขัดแย้งกับกฎหมาย ที่อยู่ในลำดับชั้นที่สูงกว่าไม่ได้

การจัดลำดับชั้นดังกล่าวยึดถือฐานะทางอำนาจขององค์กรซึ่งตรากฎหมายเป็นหลัก โดยมีการจัดลำดับชั้นของกฎหมายจากลำดับสูงสุดลดหลั่นกันลงไปจนถึงชั้นต่ำสุด ดังนี้ 

  1. รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีศักดิ์หรือฐานะทางอำนาจเหนือองค์กรอื่นๆของรัฐ รัฐธรรมนูญจึงเป็นกฎหมายที่อยู่ในลำดับขั้นสูงสุด
  2. พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรนิติบัญญัติ มีลำดับชั้นรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ รวมถึงพระราชกำหนดยังเป็นกฎหมายที่รัฐบาลตราขึ้นตามเงื่อนไขที่ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีผลบังคับใช้เหมือนพระราชบัญญัติ ทำให้พระราชกำหนดกับพระราชบัญญัติอยู่ในลำดับขั้นเดียวกัน
  3. กฎหรือข้อบังคับที่ตราขึ้นโดยรัฐบาล และองค์กรที่มีฐานะทางอำนาจ ต่ำกว่ารัฐบาล ซึ่งจำแนกออกเป็นประเภทย่อยหลายประเภท และมีลำดับชั้นลดหลั่นกันลงไปดังนี้
    • กฎหรือข้อบังคับที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำของรัฐบาล เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกา”
    • กฎที่ตราขึ้นโดยรัฐมนตรี เรียกว่า “กฎกระทราง”
    • กฎหรือข้อบังคับที่ตราขึ้นโดยองค์กรอื่นที่มีฐานะต่ำกว่ารัฐบาล ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ เช่น ข้อบังคับที่สภาเทศบาลตราขึ้น เรียกว่า “เทศบัญญัติ”, ข้อบังคับที่สภากรุงเทพมหานครตราขึ้น เรียกว่า “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร”

       

กฎหมายความหมายอย่างแคบ

นทางปฎิบัติ มีการใช้คำว่า “กฎหมาย” ในความหมายอย่างกว้างขวาง และในความหมายอย่างแคบแล้วแต่ความประสงค์ของผู้ใช้ ตามความหมายอย่างกว้าง กฎหมาย คือ กฎหมายทุกประเภท ซึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชฎีกา กฎกระทรวง และข้อบังคับ อื่นๆ ที่เข้าลักษณะเป็นกฎหมายตามคำจำกัดความของกฎหมาย แต่ตามความหมายอย่างแคบ กฎหมาย จะหมายถึงเฉพาะพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดที่ตราขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ

ในการร่างกฎหมายนั้น บางครั้งผู้ร่างก็ใช้คำว่า “กฎหมาย” ในความหมายอย่างกว้าง เช่น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 85 บัญญัติว่า “ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ…..” คำว่า “กฎหมาย” ที่ระบุในบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงกฎหมายตามความหมายอย่างกว้าง ซึ่งครอบคลุมกฎหมายทุกประเภท เพราะไม่มีถ้อยคำในบทบัญญัติดังกล่าวที่แสดงให้เห็นว่ามีความหมายเป็นอย่างอื่น แต่ในบางกรณีผู้ร่างกฎหมายก็ใช้คำว่า “กฎหมาย” ในความหมายอย่างแคบ เช่น พระราชบัญยัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มาตรา 12 บัญญัติว่า “การจ่ายเงินเป็นทุนหรือทุนหมุนเวียนเพื่อการใดๆ ให้กระทำได้แต่โดยกฎหมาย” คำว่า “กฎหมาย” ที่ระบุในบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึงกฎหมายตามความหมายอย่างแคบคือ พระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด เพราะเป็นเจตนารมณ์ของผู้ร่างและรัฐสภาที่มุ่งให้รัฐสภาเป็นผู้ควบคุมการจ่ายเงินดังกล่าว โดยการตราพระราชบัญญัติให้อำนาจรัฐบาลจ่ายเป็นเงินทุนหรือทุนหมุนเวียน

พระราชกฤษฎีกาที่เป็นการรวม หรือโอนกระทรวง ทบวง กรม ที่ไม่มีการกำหนดตำแหน่งหรืออัตราของข้าราชการหรือลูกจ้างเพิ่มขึ้น หรือการยุบกระทรวง ทบวง กรม ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 230 วรรคสอง มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายมีผลใช้บังคับได้ดังเช่น พระราชบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย ถือว่าเป็นกฎหมายตามความหมายอย่างแคบได้หรือไม่

รัฐธรรมนูญมาตรา 230 วรรคหนึ่ง กำหนดเป็นหลักการว่า การจัดตั้งกระทรวง ทยวง กรม ขึ้นใหม่ โดยมีการกำหนดตำแหน่งหรืออัตราของข้าราชการหรือลูกจ้างเพิ่มขึ้น ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และวรรคสองของบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า การรวมหรือการโอนกระทรวง ทบวง กรม ที่มีผลเป็นการจัดตั้งเป็นกระทรวง ทบวง กรม ขึ้นใหม่ หรือการรวมหรือการโอนกระทรวง ทบวง กรมที่มิได้มีการจัดตั้งเป็นกระทรวง ทยบง กรม ขึ้นใหม่ ทั้งนี้โดยไม่มีการกำหนดตำแหน่งหรืออัตราของข้าราชการหรือลูกจ้างเพิ่มขึ้น หรือการยุบกระทรวง ทบง กรม ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา นอกจากนี้วรรคห้าของบทบัญญํติดังกล่าวได้กำหนดว่า การดำเนินการตามวรรคสองกับกระทรวง ทบวง กรม ที่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งขึ้นแล้ว ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยให้ถือว่าพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นนั้นมีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในพระราชบัญญัติหรือกฎหมายที่มีผลใช้บังคับได้ดังเช่นพระราชบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

โดยที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติว่า ให้ถือว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มีผลเป็นรการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในพระราชบัญญัติหรือกฎหมายที่มีผลใช้บังคับได้ดังเช่นพระราชบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงมีปัญหาว่าพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้นจะถือว่าเป็นกฎหมายตามความหมายอย่างแคบได้หรือไม่

รัฐธรรมนูญ มาตรา 221 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย” จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดเป็นหลักการว่า พระราชกฤษฎีกาจะขัดต่อกฎหมายไม่ได้ คำว่า “กฎหมาย” ตามบทบัญญํติดังกล่าว ใช้ในความหมายอย่างแคบ ซึ่งหมายถึงพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด ดังนั้นมาตรา 230 วรรคห้า จึงเป็นบบทบัญญัติที่กำหนดข้อยกเว้นของหลักการตามมาตรา 221

โดยที่ไม่มีบทบัญญัติใดๆของรัฐธรรมนูญว่าพรราชกฤษฎีกาตามมาตรา 230 ให้ใช้บังคับได้ดังเช่นพระราชบัญญัติ จึงต้องตีความว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมิใช่กฎหมายตามความหมายอย่างแคบ

กฎหมายตามนัยของ มาตรา 264 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540

มาตรา 264  วรรค  1 บัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กล่าวถึงกฎ ข้อบังคับ ในบทบัญญัติมาตราต่างๆ คือมาตรา 6 มาตรา 29 มาตรา 57 มาตรา 64 และมาตรา 198 ซึ่งแสดงให้เห็นโดยปริยายว่า คำว่า “กฎหมาย” ที่ระบุในมาตราต่างๆ ดังกล่าว โดยเฉพะอย่างยิ่งมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่โยงกับมาตรา 264 เป็นคำที่ใช้ในความหมายอย่างแคบ ซึ่งหมายถึง พระราชบัญญัติและพระราชกำหนด เพราะหากผู้ร่างรัฐธรรมนูญประสงค์ที่จะใช้คำว่า “กฎหมาย” ในความหมายอย่างกว้าง ซึ่งครอบคลุมกฎหมายทุกประเภทแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงกฎและข้อบังคับไว้ในบทบัญญัตินั้นๆ อีก

ฉะนั้น คำว่า “กฎหมาย” ตามมาตรา 264 จึงใช้ในความหมายอย่างแคบ ซึ่งหมายถึงพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด

อ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็มที่ 4/2542

ที่ 5/2542