การกระทำที่มีผลให้คำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับ สิ้นผลบังคับ
ตามทฤษฎีกฎหมายมหาชน การกระทำที่มีผลให้คำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับ สิ้นผลบังคับ ได้แก่
- การถอน (retrait) หมายถึง การกระทำที่มีผลให้คำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับ สิ้นผลในอดีต โดยผู้ออกคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับนั้นเองเป็นผู้ถอน
- การยกเลิก (Abrogation) หมายถึง การกระทำที่มีผลให้คำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับ สิ้นผลในอนาคต โดยผู้ออกคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับนั้นเองเป็นผู้ยกเลิก
- การเพิกถอน (Annulation) หมายถึง การกระทำที่มีผลให้คำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับ สิ้นผลในอดีต โดยผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือขององค์กรของรัฐที่เป็นผู้ออกคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับนั้น เป็นผู้เพิกถอนคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับนั้นเอง
อนึ่ง คำว่า “เพิกถอน” ยังใช้ในกรณีที่คำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับ สิ้นผลในอดีตโดยคำสั่งศาลด้วย
อำนาจถอนคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับ
ตามหลักกฎหมายมหาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือองค์กรของรัฐที่ออกคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับใด ซึ่งเป็นการกระทำที่มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีอำนาจถอนคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับนั้นได้ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
- มีเหตุผลอันสมควร (Justification) ที่ต้องแก้ไขความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับนั้น เช่น การถอนคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการเพราะเหตุที่ผู้ได้รับแต่งตั้งมีอายุต่ำกว่าอายุขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้
- การถอนคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับดังกล่าวต้องกระทำในเวลาที่ผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องต่อศาลให้เพิกถอนคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ เช่น กฎหมายบัญญัติว่า การร้องต่อศาลให้เพิกถอนข้อบังคับในเรื่องใดต้องกระทำภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศใช้ข้อบังคับ การถอนข้อบังคับนั้นจะกระทำได้ภายในระยะเวลา 30 วัน นับจากวันที่ประกาศใช้ข้อบังคับนั้น ในกรณีที่กฎหมายไม่ได้กำหนดเวลาในการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะร้องต่อศาลให้เพิกถอนคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับในเรื่องใด ซึ่งทำให้ผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องให้เพิกถอนคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับนั้นได้ตลอดเวลา ในกรณีเช่นว่านี้ การถอนคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับย่อมทำได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งเห็นว่าการถอนคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับใด เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิร้องต่อศาลให้เพิกถอนการถอนคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นได้
อนึ่ง ตามหลักกฎหมายมหาชน การถอนคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือองค์กรของรัฐ ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับนั้น