ความทรงจำต่ออาจารย์อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ
“ในช่วงปี 2541-2545 การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในหลายคดีเต็มไปด้วยแรงกดดัน บรรดาผู้สื่อข่าวประจำศาลรัฐธรรมนูญต่างพากันปักหลักติดตามการประชุมตุลาการอยู่ที่ ‘บ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์’ ย่านพาหุรัดซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น รูปแบบอาคารมีบันไดขึ้นลงหลายทางและมีห้องหับมิดชิด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ประสงค์จะพบหน้าผู้สื่อข่าวก็สามารถเร้นกายหายลับไปหลังเลิกประชุมได้ไม่ยาก แต่อาจารย์อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ เป็นตุลาการที่ไม่เคยหลบหลีกจากกองทัพนักข่าวที่ดักรอสัมภาษณ์อยู่เลย
โดยปกติอาจารย์อิสสระจะเป็นคนเดินเร็ว กระฉับกระเฉง แต่ถ้าเห็นผู้สื่อข่าวยืนรออยู่ก็พร้อมจะแตะเบรกแล้วเดินให้ช้าลงเพื่อพูดคุยด้วยทุกครั้ง ในการพูดคุยส่วนใหญ่ก็จะให้ข้อมูลพื้นฐาน เช่น การประชุมเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง มีกำหนดการประชุมครั้งต่อไปเมื่อไหร่ ขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาคดีถึงไหนแล้ว ส่วนรายละเอียดความคืบหน้าอื่นๆ ก็จะแจ้งว่า ‘ให้รอเลขาฯ แถลงนะ’ หรือ ‘ให้รออ่านในคำวินิจฉัยกลาง–คำวินิจฉัยส่วนตนนะ’
หากเป็นการสอบถามถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความรู้ อาจารย์ก็พร้อมจะเป็น ‘ครู’ ช่วยอธิบายอย่างละเอียด เปรียบเทียบข้อกฎหมายและอธิบายให้ผู้สื่อข่าวเข้าใจได้โดยง่าย แต่ไม่เคยเผลอแสดงความคิดเห็นให้นักข่าวคาดเดาทิศทางคำวินิจฉัยได้เลย เรียกว่า อยากถามก็ได้ถาม แต่อย่าคิดจะตะล่อมเสียให้ยาก ในช่วงก่อนศาลจะมีคำตัดสินใจใดๆ อาจารย์อิสสระจะมีวิธีการพูดคุยกับสื่อที่เคร่งครัด ไม่ให้เสียมารยาทหรือจรรยาบรรณของตุลาการโดยเด็ดขาด แต่ขณะเดียวกันก็ให้เกียรติและเข้าใจการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างมาก
เมื่อได้รู้จักและติดตามทำข่าวศาลรัฐธรรมนูญในคดีสำคัญๆ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง ก็ยิ่งเห็นว่าอาจารย์อิสสระเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ทำงานหนัก มีความกล้าหาญ หนักแน่นในการทำหน้าที่ ไม่หวั่นไหวไปกับแรงกดดันอำนาจอิทธิพลใดๆ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หาไม่ได้ง่ายๆ ในแวดวงการเมืองของไทย
อีกเหตุผลหนึ่งที่อาจารย์อิสสระมีความเข้าใจการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวเป็นอย่างดี น่าจะเป็นเพราะอาจารย์มีเพื่อนรักร่วมรั้วธรรมศาสตร์ที่เป็น ‘นักหนังสือพิมพ์’ ที่เป็นแบบอย่างเรื่องการยึดมั่นจริยธรรมแห่งวิชาชีพของนักข่าวรุ่นหลังเสมอมา คือน้าเจตน์ ‘สมเจตน์ วัฒนาธร’ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำรัฐสภาและคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เมื่อทราบว่าผู้สื่อข่าวประจำศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เป็นผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาด้วย อาจารย์อิสสระก็มักถามข่าวคราวถึงเพื่อนจากผู้สื่อข่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยๆ ด้วยประโยคที่เราคุ้นหูคือ ‘สมเจตน์เป็นไงบ้าง สบายดีมั้ย’
ขณะที่น้าเจตน์ก็จะแนะนำดิฉันและนักข่าวที่มาทำข่าวที่ศาลรัฐธรรมนูญว่า มีอะไรสงสัยก็ให้คุยให้สอบถามกับอาจารย์ ‘อิสสระ’ ได้ เพราะเพื่อนคนนี้นอกจากจะเก่งกฎหมายแล้วยังมีประวัติการทำงานที่ซื่อตรง ไว้ใจได้ ซึ่งดิฉันก็เห็นพ้องกับน้าเจตน์โดยสิ้นสงสัย
เชื่อว่าบัดนี้ อาจารย์อิสสระคงได้พบกับน้าเจตน์แล้ว และคงกำลังตั้งวงถกเถียงเรื่องการบ้านการเมืองกันอย่างออกรสออกชาติเป็นแน่”
ด้วยความเคารพอย่างสูง
สุภาวดี อินทะวงษ์
อดีตผู้สื่อข่าวประจำศาลรัฐธรรมนูญ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
มีนาคม2564