หลักกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ในประเทศที่มีการแบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ กฎหมายธรรมดาและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศฝรั่งเศส ทฤษฎีกฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญคือกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแน่ชัดหรือสมบูรณ์ ดังนั้น กฎหมายประกอบรัฐธรรนูญที่ตราขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ความหมายของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
พจนานุกรมศัพท์กฎหมายซึ่งพิมพ์จำหน่ายในประเทศฝรั่งเศส ได้อธิบายความหมายของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (Loi organique) ไว้ดังนี้
“กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (Loi organique) ได้แก่ กฎหมายซึ่งรัฐสภาลงมติให้ประกาศใช้เพื่อทำให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญชัดเจนขึ้นหรือสมบูรณ์ รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1958 ระบุกรณีต่างๆ ที่จะตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไว้อย่างจำกัด และทำให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายประเภทใหม่ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ (les lois constitutionelles) และกฎหมายธรรมดา (les lois ordinaires) โดยให้การตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอยู่ภายใต้เงื่อนไขพิเศษในการลงมติและในการควบคุม (มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ 1958) (Lexique de terms juridiques, Dalloz,1972)
พจนานุกรมศัพท์กฎหมาย (Lexique de terms juridiques, Dalloz,Deuxieme Edition 1972)
Loi Orgnique-Dr. Const.
Loi votée par le Parlement pour préciser compléter les dispositions de la Constitution. La Consittution de 1958 prévoit limitativement les cas de recours aux lois organiques et fait de celles-ci une nouvelle catégories de lois entre les lois constitutionnelles et les lois ordinaires en les soumettant a des conditions particulières d’adoption et de contrôle
“กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ”ที่ใช้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
เป็นที่ทราบกันดีว่า คำว่า “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ”ที่ใช้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีที่มาจากคำว่า “ลัวออกานิก” (LOI ORGANIQUE) ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 1958 ซึ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนั้นนำมาปรับใช้โดยเรียกว่า “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ”
เพื่อความเข้าใจดีในเรื่องนี้ ขอยกตัวอย่างประกอบดังนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 63 วรรคสาม ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองที่ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษํตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซื่งอำนาจใจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ เพราะการยุบพรรคการเมืองอาจเนื่องมาจากเหตุอื่นๆ นอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 63 ดังนั้น เพื่อให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองสมบูรณ์ รัฐสภาจึงต้องตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญสมบูรณ์ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ