ข่าวจากฐานข้อมูล News Center
Source – เว็บไซต์คมชัดลึก
Wednesday, July 10, 2002 03:13
ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลรัฐธรรมนูญว่า ภายหลังการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเขียนคำวินิจฉัยกลาง เกี่ยวกับการสรรหาของคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ
นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่าตุลาการเสียงข้างมาก ได้เขียนคำวินิจฉัยกลางเสร็จแล้ว โดยลงมติในคำร้องว่ากระบวนการสรรหา กกต.ในรอบที่ 6 และ 7 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าหลังจากมีคำวินิจฉัยกลางแล้ว จะทำให้ผู้ปฏิบัติมีความชัดเจนในทางปฏิบัติโดยยึดหลักคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
นายอิสสระ กล่าวด้วยว่า ในการวินิจฉัยนั้น คณะตุลาการได้ใช้กฎหมายมหาชนมาพิจารณา ไม่ใช่พิจารณาตามมาตรา 141 ในรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งตามหลักกฎหมายมหาชนได้ระบุว่า การกระทำขององค์กรปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย และการชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ดูจากกฎหมายอย่างเดียว เราต้องนำพื้นฐานของหลักการมาประกอบการวินิจฉัยด้วย ส่วนผลของคำวินิจฉัยที่ออกมา ไปกระทบต่อตัวบุคคล และต้องลาออกจากตำแหน่งนั้น ก็ถือว่าเป็นผลของตัวกฎหมาย เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นผู้ที่ได้รับการสรรหามา และวุฒิสภาได้ให้การรับรองไปแล้ว ก็ต้องถือว่าบุคคลนั้นจะต้องสิ้นสภาพไปโดยอัตโนมัติ
Source – เดลินิวส์
Friday, July 12, 2002 09:21
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่สำนักงานศาลรัฐ ธรรมนูญ นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์มติศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกระบวนการสรรหา กกต. ที่ขัดรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องปกติที่ความคิดเห็นของบุคคลอาจเห็นไม่ตรงกับศาลรัฐธรรมนูญ เขาอาจต้องการให้ประชาชน หรือลูกศิษย์ได้แง่คิด แต่ประชาชนจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าใครผิดใครถูก การออกมามีบทบาทต้องมองในแง่ดีว่า เขาอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่ยึดถือกฎหมายเป็นหลัก
ผมไม่อยากไปต่อความยาวสาวความยืด เราเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว ไม่อยากโต้แย้งกับใคร ต้องหนักแน่น และพร้อมที่จะรับฟังเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องทั้งหมดให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินดีกว่า นายอิสสระกล่าว เมื่อถามว่า คิดอย่างไรที่อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจเกินขอบเขต นายอิสสระกล่าวว่า ได้มีการใคร่ครวญอย่างเต็มที่แล้วว่า อำนาจที่ใช้ไปไม่เกินหน้าที่
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยังกล่าวถึงกระบวนการสรรหา กกต. ใหม่ว่า ยังไม่สามารถวางกรอบอะไรได้มาก หากพูดไปก่อนจะกลายเป็นการชี้นำ และจากที่ประธานวุฒิได้เสนอการสรรหาเพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน หากจะออกระเบียบตรงนี้มาจะต้องออกเป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นวิธีการขยายความรัฐธรรมนูญ และอาจจะมีปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้
การสรรหาที่เกิดขึ้นไม่ควรมีการบล็อกโหวต ทุกอย่างควรจะว่าไปตามเนื้อผ้า ผมเห็นว่าควรมีตัวแทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้านเข้ามาเป็นกรรมการด้วย ส่วนที่มีกระแสข่าวออกมาระบุว่า ผมจะถอนตัวจากการเป็นประธานคณะกรรมการสรรหา กกต. ชุดที่จะตั้งขึ้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ประธานศาลรัฐธรรมนูญกล่าว
–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 12 ก.ค. 2545–
เมินคำวิจารณ์ ศาล รธน.ยันโปร่งใส
นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลังจากที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเห็นว่ากระบวนการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีทีมาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สามารถแสดงความคิดเห็นกันได้ ถือเป็นเรื่องธรรมดาปกติ เป็นความคิดเห็นของบุคคลที่เห็นไม่ตรงกับศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นเรื่องที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ เขาอาจต้องการให้ประชาชน หรือลูกศิษย์ได้แง่คิด เรื่องนี้ถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าใครผิดใครถูก แต่การที่เขาออกมามีบทบาทต้องมองในแง่ดีว่า เขาอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่ยึดถือกฎหมายเป็นหลัก แต่ความคิดเห็นสามารถที่ไม่ตรงกันได้
Source – เว็บไซต์คมชัดลึก
Saturday, August 03, 2002 01:50
กก.สรรหาเลือก “จารุภัทร” ชิงกกต. ลงคะแนน 12 รอบ
คณะกรรมการสรรหา เลือก “จารุภัทร เรืองสุวรรณ” เป็น กกต. ก่อนเสนอให้วุฒิสภาลงมติชี้ขาด เผยใช้เวลาลงคะแนนลับถึง 12 รอบกว่าจะได้คะแนน 3 ใน 4 “อิสสระ” ยันไม่มีการล็อบบี้ และไม่ขัด รธน.
คณะกรรมการสรรหา กกต.ได้ประชุมกันเมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 1 ส.ค. เพื่อคัดเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.โดยภายหลังใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ที่ประชุมเห็นชอบเลือก พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เป็นผู้เหมาะสม โดยจะเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาเลือกตั้งร่วมกับนายชูชาติ ศรีแสง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งที่ประชุมศาลใหญ่ศาลฎีกา ได้ลงมติเลือกและเสนอชื่อไปก่อนหน้านี้
นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา กกต.แถลงภายหลังการประชุมว่า หลังจากได้มีการลงคะแนนลับทั้งสิ้น 12 รอบ ในที่สุดที่ประชุมได้มีมติเลือก พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ด้วยคะแนน 8 คะแนน ซึ่งไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยในวันที่ 2 ส.ค.นี้ จะเสนอชื่อต่อ พล.อ.มนูญกฤต รูปขจร ประธานวุฒิสภาต่อไป
สำหรับการลงมติ ซึ่งใช้เวลานานนั้น เนื่องจากต้องการให้กรรมการทุกคนได้ออกเสียงตามความเห็นของตนเอง เพื่อความหลากหลาย จากนั้นได้มีการปรับเข้าหากันจนได้คะแนน 3 ใน 4 ในรอบที่ 12 โดยระหว่างการลงคะแนน ไม่มีกรรมการคนใดอภิปรายแสดงความคิดเห็น เพราะก่อนหน้านี้ได้ศึกษาประวัติผู้สมัครทั้งหมดแล้ว
“ผมมั่นใจว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่มีปัญหา เพราะทำด้วยความสุจริต ตรงไป ตรงมา และกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกผู้สมัครจากประวัติความเป็นมา ประสบการณ์ในการรับราชการ และการแสดงความคิดเห็นทั้งจากในเอกสาร และที่แถลงต่อกรรมการสรรหา และยืนยันได้ว่าคณะกรรมการสรรหา ได้เลือกด้วยความจริงใจ ไม่มีการวิ่งเต้นหรือล็อบบี้” นายอิสสระ กล่าว
กรรมการสรรหาฯชี้ “จารุภัทร” เหมาะสม
ด้าน ร.อ.ประพาส ลิมประพันธ์ กรรมการสรรหา จากพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า กรรมการพิจารณาจากคุณสมบัติผู้สมัครเป็นหลัก และมีการพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด เนื่องจากนายอิสสระได้กำชับต่อที่ประชุมว่า การคัดเลือกครั้งนี้ อย่าให้ขัดต่อกฎหมายหรือต้องกลายเป็นปัญหานำไปตีความในศาลรัฐธรรมนูญอีก เนื่องจากมีประสบการณ์และบทเรียนจากการเลือก กกต.ครั้งที่แล้ว
ดังนั้นทุกคนได้ลงคะแนนอย่างระมัดระวัง และไม่ต้องการให้ผิดพลาดอีก และในที่สุดได้เลือก พล.อ.จารุภัทร เนื่องจากมีความเหมาะสม เป็นคนมีวิสัยทัศน์ดี และมีความเด็ดขาด
ขณะที่ นายภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหา กล่าวว่า ในการลงคะแนน 3 รอบแรก มีผู้ได้คะแนนสูสี 3 คน เป็นการลงคะแนนเสียงที่ยื้อกันไปยื้อกันมา แต่คณะกรรมการสรรหา ได้ตัดสินใจว่าจะพยายามเลือกให้เสร็จภายในวันนี้ จนในที่สุดกรรมการสรรหา ได้เทคะแนนให้ พล.อ.จารุภัทร เพราะส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความสามารถ มีความรู้ และเข้าใจการทำงานของ กกต.เป็นอย่างดี