การกระทำทางศาล หรือการพิพากษาคดี

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบกฎหมายเป็นระบบ Civil law เพราะได้มีการจัดทำประมวงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อใช้บังคับแก่นิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน ดังนั้น ในการพิจารณาว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดี” มีความหมายอย่างไร จึงต้องวิเคราะห์โดยอาศัยทฤษฎีกฎหมายของประเทศที่มีระบบกฎหมายเป็นระบบ Civil law เป็นพื้นฐาน ซึ่งในทีนี้จะอาศัยทฤษฎีกฎหมายของประเทศฝรั่งเศสเป็นหลัก

ในประเทศฝรั่งเศส ได้มีการถกเถียงกันในทางทฤษฎีกฎหมายมาช้านานแล้วว่า “การกระทำทางศาล” (les actes juridictionnels) ซึ่งได้แก่การพิพากษาคดีและการกระทำอื่นในทางคดีของศาลมีความหมายอย่างไร ทั้งนี้เพื่อที่จะใช้ในการพิจารณาว่าองค์กรใดของรัฐเป็นองค์กรที่มีฐานะเป็นศาลหรือไม่ ที่เป็นปัญหาเช่นนี้ก็เพราะแนวคำพิพากษาของศาล (la jurisprudence) โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคำพิพากษาของศาลปกครองที่วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจะใช้ได้เฉพาะกรณี เท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือไม่สามารถใช้กับกรณีทั่วไปได้ ดังนั้น ในทางทฤษฎีกฎหมาย จึงมีการวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวและกำหนดหลักพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นการกระทำทางศาล

หลักพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นการกระทำทางศาล

หลักพิจารณา  (le critère) ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางก็คือหลักพิจารณาที่กำหนดขึ้นโดยอาศัยรูปแบบของการกระทำ (le critère formel)เป็นพื้นฐาน

ตามหลักพิจารณาดังกล่าว การกระทำทางศาล ต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้

(1) เป็นการกระทำขององค์กรชำนัญพิเศษ (Les organs spécialisés)

(2) องค์กรตาม (1) ต้องเป็นอิสระ (independent)

(3) ารทำงานขององค์กรดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งวิธีพิจารณาเฉพาะ

Des règles des procédures particulières) ซึ่งเป็นหลักประกันความยุติธรรมของคู่กรณี

อนึ่ง หลักพิจารณาทางรูปแบบดังกล่าว ต้องใช้ควบคู่กันไปกับหลักพิจารณาภายนอก (Le critère externe) คือ ผลทางกฎหมายของการกระทำ

หลักพิจารณาทางด้านเนื้อหาของการกระทำ (Les Critères matériels)

นักกฎหมายกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้แต่งตำรากฎหมายเห็นว่า ในการพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นการกระทำทางศาล (Les actes Juridictionnels) ควรใช้หลักพิจารณาทางด้านเนื้อหาของการกระทำ (Les Critères matériels)

หลักพิจารณาทางด้านเนื้อหาที่ได้รับการยอมรับจากนักกฎหมายฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยก็คือ การมีอยู่ซึ่งข้อโต้แย้งของปัจเจกบุคคล (La contestation privée) เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการกระทำขององค์กรที่ชี้ขาดข้อโต้แย้งนั้นเป็นการกระทำทางศาลหรือเป็นการพิจารณาพิพากษาคดี ผู้ที่เสนอหลักพิจารณาดังกล่าวให้เหตุผลว่าเมื่อเกิดการโต้แย้งขึ้นจึงมีข้อเรียกร้องในคดี ศาลจึงเข้าแทรกแซงเพื่อตัดสินชี้ขาดคดี

อย่างไรก็ตาม หลักพิจารณาด้านเนื้อหาของการกระทำดังกล่าวข้างต้น ก็มีนักกฎหมายบางคนโต้เถียงว่าไม่ถูกต้อง เพราะการกระทำทางศาลหรือการพิพากษาคดีเป็นจำนวนไม่น้อยที่เป้นการเข้าแทรกแซงในคดีที่มีข้อเรียกร้องของผู้ร้องฝ่ายเดียว (La prétention unilatérale) โดยไม่มีข้อโต้แย้งของคู่กรณี เช่น ในกรณีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนการกระทำทางปกครอง (L’acte adminstratif) ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในกรณีเช่นว่านี้ ศาลปกครองเข้าแทรกแซงโดยไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น ดังนั้น หลักพิจารณาดังกล่าวจึงมีจุดอ่อน ทำให้นักกฎหมายส่วนใหญ่ยอมรับหลักพิจารณาตามรูปแบบดังกล่าวแล้ว

ผลทางกฎหมายของการกระทำทางศาล

ผลทางกฎหมายของการะกระทำทางศาลหรือคำพิพากษา มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากการกระทำทางกฎหมายอื่นๆ กล่าวคือ การกระทำทางศาลที่ถึงที่สุดแล้วมีผลทางกฎหมายให้บุคคลทั้งหลายต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม เพราะมีข้อสันนิษฐานว่า การกระทำดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการกระทำทางกฎหมายขององค์กรปกครองธรรมดาไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานดังกล่าว ดังนั้นผลทางกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นเอกลักษณ์ของการกระทำทางศาล

 

การให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรรับเลือกตั้งตามมาตรา 85/1 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 85/9 มีลักษณะเป็นการให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาพิพากษาอรรถคดีหรือไม่

คณะกรรมการการเลือกตั้งมิใช่องค์กรชำนัญพิเศษ เพราะรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดคุณสมบัติทางด้านวิชาชีพเฉพาะของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งไว้ นอกจากนี้ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดวิธีพิจารณาเฉพาะสำหรับการพิจารณาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 85/1 และ 85/9 อีกทั้งไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าคำวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 85/1 และ 85/9 ให้ถึงที่สุด ดังนั้นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากคำวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวจึงอาจโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของคำวินิจฉํยดังกล่าว โดยฟ้องร้องต่อศาลได้

จะเห็นได้ว่า การวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 85/1 และ 85/9 ไม่เข้าองค์ประกอบการกระทำทางศาล ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการกระทำทางศาลหรือการพิจารณาพิพากษาคดีแต่อย่างใด

อ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็ม ที่ 54-55/2543