ตามหลักกฎหมายมหาชน การตีความบทบัญญัติของกฎหมายต้องตีความตามถ้อยคำของบทบัญญัตินั้น ๆ โดยเคร่งครัด เว้นแต่ในกรณีที่ถ้อยคำของบทบัญญัติใดไม่ชัดเจน หรือไม่ชัดจะต้องตีความตามเจตนารมย์ของกฎหมาย
การตีความบทบัญญัติมาตรา 180 ของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540
สำหรับถ้อยคำของมาตรา 180 วรรคห้าและวรรคหก ของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 นั้นมีความชัดเจนและแน่ชัด กล่าวคือ วรรคห้า บัญญัติว่า “ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบรายจ่ายประจำปี …. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะแปรญัตติเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการมิได้…..” คำว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั้น ย่อมชัดเจนและแน่ชัดว่าไม่ใช่กรรมาธิการและไม่มีถ้อยคำใดที่แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้วรรคหกของมาตรานี้บัญญัติว่า “ในการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือ กรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายจะกระทำมิได้” จะเห็นได้ว่า วรรคหก ได้บัญญัติห้ามการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ … โดยมิได้ระบุว่าเป็นการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำของผู้ใดโดยเฉพาะเจาะจง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องตีความว่า การห้ามตามวรรคหกเป็นการห้ามทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งตามหลักตรรกศาสตร์ ต้องถือว่า บทบัญญํติวรรคห้าไม่ใช้บังคับแก่กรรมาธิการ ส่วนบทบัญญัติวรรคหกนั้นใช้บังคับแก่ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ โดยที่บทบัญญัติวรรคหก ห้ามกรรมาธิการ เสนอ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือ กรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย ซึ่งแสดงให้เห็นโดยปริยายว่า ถ้าการเสนอหรือกระทำใด ๆ ของกรรมาธิการ ไม่มีผลเช่นนั้น ย่อมทำได้โดยชอบด้วยมาตรา 180 วรรคหก ดังนั้น การตีความว่าคณะกรรมาธิการ และกรรมาธิการวิสามัญฯ ไม่มีอำนาจเสนอให้คณะกรรมาธิการพิจารณาเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการเพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ม 180 วรรคห้าและวรรคหก จึงเป็นการตีความที่ขัดหรือแย้งกับถ้อยคำที่ชัดเจนและแน่ชัดของบทบัญญัติดังกล่าวของรัฐธรรมนูญ
อนึ่งข้อความในวรรคห้าของมาตรา 180 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พุทศักราช 2540) เป็นอย่างเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับก่อน ๆ อาทิ รัฐธรรมนูญ 2521 มาตรา 133 วรรคห้า รัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 146 วรรค 5 ซึ่งในระหว่างที่ใช้บังคับรัฐธรรมนูญ ฉบับดังกล่าวก็มิได้มีการโต้แย้งในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่า บทบัญญัตินั้นห้ามกรรมาธิการเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการโดยมิได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
กล่าวโดยสรุป ผู้ทำคำวินิจฉัยเห็นว่า กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีย่อมมีสิทธิเสนอเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการของร่างพ.ร.บ.นั้นได้ เว้นแต่การเสนอดังกล่าวเป็นผลให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการฯ มีส่วนโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย