หลักกฎหมายทั่วไปในการตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

ตามหลักกฎหมายทั่วไป การตีความบทบัญญัติใดๆ ของรัฐธรรมนูญ จะต้องตีความไปในทางที่สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในมาตราต่างๆ เว้นแต่บทบัญญัตินั้นๆ จะมีข้อความหรือถ้อยคำที่แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัตินั้นเป็นบทที่ยกเว้นหลักการดังกล่าว 

การตีความบทบัญญัติมาตรา 33 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 33 เป็นบทบัญญัติภายใต้หมวด 3 อันเป็นหมวดที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ได้บัญญัติหลักการพื้นฐานในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นมูลฐานของบุคคลไว้ ดังนี้

“มาตรา 33 ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำผิดมิได้”

ที่มาของมาตรา 33 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

บทบัญญัติมาตรา 33 น่าจะมีที่มาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศเมื่อวันที่  10 ธันวาคม ค.ศ. 1958 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งประเทศทั้งหลายที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติรวมทั้งประเทศไทยไ้ด้ร่วมเป็นภาคี

กติกาดังกล่าวมีบทบัญญัติซึ่งเป็นที่มาของมาตรา 33 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนี้

ข้อ 14 วรรค 2 บัญญัติว่า “บุคคลทุกคนซึ่งถูกกล่าวว่ากระทำผิด ย่อมมีสิทธิได้รับสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ากระทำผิดกฎหมาย”

ข้อ 14 วรรค 5 บัญญัติว่า “บุคคลทุกคนที่ถูกลงโทษในความผิดอาญาย่อมมีสิทธิอุทธรณ์การลงโทษและคำพิพากษาต่อศาลสูงให้พิจารณาทบทวนอีกครั้งตามกฎหมาย”

หลักการของมาตรา 33

บทบัญญัติมาตรา 33 ได้วางหลักการว่า ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำผิดมิได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลได้กระทำผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้

มาตรา 216(4) ของรัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติที่กำหนดข้อยกเว้นของหลักการตามมาตรา 33 หรือไม่

รัฐธรรมนูญแห่งราชอำนาจักรไทย มาตรา 216 บัญญัติว่า “ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ

ฯลฯ

(4) ต้องพิพากษาให้จำคุก

ฯลฯ”

เมื่อพิจารณามาตรา 216(4) จะเห็นว่า ไม่มีถ้อยคำใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่า “คำพิพกาษา” ที่กล่าวถึงในบทบัญญัตินั้นหมายถึงคำพิพากษาที่ไม่ถึงที่สุด แต่นักวิชาการบางคนให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า มาตรานี้มีเจตนารมณ์ที่จะให้รัฐมนตรีที่ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกต้องพ้นจากตำแหน่งแม้คำพิพากษานั้นยังไม่ถึงที่สุด โดยให้เหตุผลว่า ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติสูงกว่าบุคคลทั่วไป ดังนั้น เมื่อบุคคลดังกล่าวต้องคำพิพากษาเช่นว่านั้น ก็ไม่สมควรที่จะให้อยู่ในตำแหน่งต่อไป การกล่าวเช่นนั้นเป็นการกล่าวที่ไม่ตรงประเด็น เพราะเรื่องที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นี้ก็คือ การที่บุคคลใดต้องคำพิพากษาที่ยังไม่ถึงที่สุดใ้้ห้จำคุก จะรับฟังเป็นข้อยุติได้หรือไม่ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำผิด มิใช่ปัญหาว่าผู้กระทำผิดจะอยู่ในตำแหน่งได้หรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีผู้แสดงความเห็นในหนังสือพิมพ์บางฉบับว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)  จงใช้ใช้คำว่า “คำพิพากษา” โดยไม่ระบุว่าเป็นคำพิพากษาถึงที่สุดในบางมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 216(4) เพื่อแสดงให้เห็นความประสงค์ของการใช้ถ้อยคำนั้นในความหมายที่แตกต่างจาก “คำพิพากษาถึงที่สุด” กล่าวคือ ในกรณีที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้คำพิพากษาที่กล่าวถึงในมาตรใดหมายถึงคำพิพากษาที่ยังไม่ถึงที่สุด ก็จะใช้คำว่า  “คำพิพากษา” โดยไม่ขยายความว่า “ถึงที่สุด ” แต่ในกรณีที่ต้องการให้หมายถึงเฉพาะคำพิพากษาที่ “ถึงที่สุด” ต่อท้ายคำนั้น

แต่เมื่อตรวจสอบบทบัญญัติต่างๆ ของรัฐธรรมนูญที่กล่าวถึงคำพิพากษา ก็พบว่าไม่เป็นดังที่กล่าวอ้างข้างต้นเสมอไป เช่น มาตรา 109 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดลักษณะของบุคคลที่ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้บัญญัติไว้ใน (5) ของมาตราดังกล่าว ดังนี้

มาตรา 109   บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ

ฯลฯ

(5) เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไปโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ใน ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

ฯลฯ

นอกจากนี้ มาตรา 206 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีได้บัญญัติลักษณะต้องห้ามใน (5) ดังนี้

มาตรา 206   รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

ฯลฯ

(5) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ใน ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

ฯลฯ

เมื่อพิจารณาถ้อยคำของบทบัญญัติมาตรา  106(9) และมาตรา 206(5) ย่อมเข้าใจได้ว่า คำพิพากษาที่กล่าวถึงในสองมาตราดังกล่าว หมายถึง คำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้ว เพราะมีการกล่าวถึงการพ้นโทษตามคำพิพากษาในบทบัญญัติทั้งสอง  แต่คำพิพากษาที่กล่าวถึงในมาตราทั้งสองก็มิได้มีคำว่า “ถึงที่สุด” ต่อท้าย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงฟังเป็นยุติไม่ได้ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ระบุว่าถึงที่สุด หมายถึง คำพิพากษาที่ยังไม่ถึงที่สุด

โดยที่ไม่มีถ้อยคำใดๆ ในมาตรา 216(4) แสดงให้เห็นว่า คำพิพากษาที่กล่าวถึงในบทบัญญัตินี้หมายถึงคำพิพากษาที่ยังไม่ถึงที่สุด จึงต้องตีความว่า คำพิพากษาที่กล่าวถึงในบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นมุลฐานของบุคคลที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 33 วรรคสองว่า  ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำผิดมิได้

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนฉบับเต็ม ที่ 36/2542