ความหมายของ “ประชาธิปไตย”

ตามความหมายของถ้อยคำ “ประชาธิปไตย” (la démocratie) คือ การปกครองของประชาชนโดยประชาชน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ

  • ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยด้วยตนเอง ซึ่งเรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยโดยตรง (la démocratie directe) 
  • ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมอบภารกิจทางการเมือง (Le mandat politque) ให้พลเมืองบางคนใช้อำนาจอธิปไตยแทน ซึ่งเรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยในระบบผู้แทน (la démocratie representative)

ในปัจจุบันการปกครองของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่รวมทั้งประเทศไทย เป็นการปกครองในระบบผู้แทน 

ความคิดเห็นของรุสโซเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของสมาชิกรัฐสภา

ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 หลังจากที่อังกฤษได้ก่อตั้งระบบรัฐสภาแล้ว รุสโซ J.J. Rousseau นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งไว้ในหนังสือชื่อ “กองตราท์ โซเชียล” (Contrat Social) โดยเห็นว่าอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนนั้น พลเมืองแต่ละคนต่างเป็นเจ้าของคนละส่วน (fraction) ดังนั้น ภารกิจที่สมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งได้รับ จึงเป็นภารกิจที่อยู่ภายใต้อาณัติ (le mandat impératif) ในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากภารกิจที่ได้รับมอบหมายภายใต้กฎหมายเอกชน กล่าวคือ ผู้ได้รับการเลือกตั้งต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้เลือกตั้ง

ความคิดเห็นของสภารัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสเกี่ยวกับการไม่อยู่ใต้อาณัติใดๆ ของสมาชิกรัฐสภา

ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1789 สภารัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส (Assemblee constitunante) ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติและร่างรัฐธรรมนูญด้วย มีความเห็นที่แตกต่างจากรุสโซ่ สภาดังกล่าวเห็นว่า ภารกิจที่สมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งได้รับเป็นภารกิจทางการเมือง และเป็นภารกิจแห่งการเป็นผู้แทน (le mandat representatif) ซึ่งเป็นปริยายว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้งมิใช่ผู้แทนของคณะผู้เลือกตั้ง (le corps électoral) แต่เป็นผู้แทนของประชาชาติทั้งมวล (la nation toute entière)

คำว่า “ประชาชาติ” ในที่นี้หมายถึงพลเมืองทั้งหลายที่รวมเป็นหนึ่งเดียว (unité collective) ซึ่งเป็นนามธรรม (abstraite) ด้วยเหตุนี้สมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งจึงไม่อยู่ภายใต้อาณัติหรือคำสั่งใดๆ ของผู้เลือกตั้ง

นอกจากนี้ภารกิจแห่งการเป็นผู้แทนยังมีความหมายโดยปริยายว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งมีฐานะเป็นผู้แทนของประชาชาติทั้งมวลย่อมมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชาติทั้งมวล  โดยสามารถใช้ดุลพินิจกระทำในสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชาติโดยรวม

นับแต่นั้นมา ทฤษฎีกฎหมายมหาชนและทฤษฎีการเมืองจึงถือว่าความเป็นอิสระในการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากประชาชาติ และการไม่อยู่ภายใต้อาณัติใดๆ ของสมาชิกรัฐสภา เป็นหลักการพื้นฐานแห่งระบอบประชาธิปไตย และประเทศต่างๆ ทั้งที่เป็นสาธารณรัฐและราชอาณาจักรได้นำหลักการดังกล่าวไปใช้โดยทั่วไป

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตน  1/2542  ฉบับเต็ม