ขอบเขตอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติในระบอบรัฐสภา เป็นรูปแบบหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งประเทศไทยได้นำมาใช้ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จนถึงปัจจุบัน

ความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างระบอบรัฐสภาและระบอบประธานาธิบดี

ระบอบรัฐสภา (Régime parlementaire ในภาษาฝรั่งเศส หรือ Parliamentary Government ในภาษาอังกฤษ) แตกต่างในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญจากระบอบประธานาธิบดี (Régime présidentiel หรือ Presidential Government) ความแตกต่างที่เด่นชัดประการหนึ่งก็คือ ในระบอบรัฐสภา การแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่เด็ดขาด ดังนั้น ฝ่ายบริหารจึงมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ส่วนในระบอบประธานาธิบดีนั้น มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเด็ดขาด ดังนั้น ฝ่ายบริหารคือประธานาธิบดีจึงไม่มีส่วนร่วมในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ

ความสูงสุดของรัฐสภา

ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศทั้งหลายในภาคพื้นทวีปยุโรปนั้น ลัทธิกฎหมาย (Doctrine) หรือความคิดเห็นของนักกฎหมายที่แสดงออกในข้อเขียนของตน มีความเห็นว่ารัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในนามของประชาชาติทั้งมวล ดังนั้น รัฐสภาจึงเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด ดังนั้น ในประเทศเหล่านั้น จึงมีการกล่าวถึงความสูงสุดของรัฐสภา (Suprématie parlementaire) เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความใหญ่ยิ่งขององค์กรดังกล่าว การรับรองความสูงสุดของรัฐสภาเป็นผลให้การกระทำของรัฐสภาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของศาลใดๆ

ความคิดเห็นเรื่องอำนาจของรัฐสภา ในคริสตศวรรษที่ 19

ความคิดเห็นของลัทธิกฎหมายดังกล่าวมีมาตั้งแต่คริสศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคต้นของระบอบประชาธิปไตยของประเทศในภาคพื้นทวีปยุโรป อย่างไรก็ดี โดยนิตินัย เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า รัฐสภาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด แต่เนื่องจากในเวลานั้น ไม่มีองค์กรใดๆ ในประเทศเหล่านั้นมีอำนาจตรวจสอบว่าการกระทำของรัฐสภาชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น โดยพฤตินัย อำนาจของรัฐสภาจึงไม่มีขอบเขต

ลัทธิกฎหมายได้อธิบายว่า ความสูงสุดของรัฐสภามีความหมายว่า รัฐสภาจะตรากฎหมายเพื่อใช้บังคับในเรื่องใดๆก็ได้ตามแต่รัฐสภาจะเห็นสมควร และในการตรากฎหมายนั้น รัฐสภาจะกำหนดทั้งหลักการและรายละเอียดของกฎหมายก็ได้ หรือจะกำหนดแต่เฉพาะหลักการของกฎหมายและให้อำนาจฝ่ายบริหารตราข้อบังคับ ซึ่งเรียกว่ากฤษฎีกา (Décret ในภาษาฝรั่งเศสหรือ Decree ในภาษาอังกฤษ) เพื่อกำหนดรายละเอียดของกฎหมายก็ได้ นอกจากนี้ ในการตรากฎหมาย รัฐสภาจะกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการบังคับใช้กฎหมายนั้นได้

ทั้งนี้ข้อบังคับ (Règlement) เทียบได้กับสิ่งที่เรียกในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมาย Common Law ว่า กฎหมายอันดับรอง (Subordinate Legislation))

ความคิดเห็นเรื่องอำนาจของรัฐสภา ในคริสตศวรรษที่ 20

ในคริสศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศต่างๆ ในภาคพื้นทวีปยุโรป อาทิ เยอรมันนี ฝรั่งเศส และสเปน ได้ปฏิรูปรัฐธรรมนูญของตนให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป การปฏิรูปดังกล่าวเป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก รัฐธรรมนูญจำกัดอำนาจของรัฐสภาในการตรากฎหมาย และประการที่สอง มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำของรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้น นับแต่นั้นมา ความสูงสุดของรัฐสภาจึงเป็นความสูงสุดภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ดังนั้น ในระบอบรัฐสภาสมัยใหม่ รัฐสภาจึงไม่อาจตรากฎหมายในเรื่องที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจขององค์กรอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายบริหารได้ แต่นอกเหนือจากเรื่องที่รัฐธรรมนูญสงวนไว้เป็นอำนาจขององค์กรอื่น รัฐสภาจะตรากฎหมายในเรื่องใดๆ ก็ได้ แล้วแต่รัฐสภาจะเห็นสมควร และรัฐสภาจะตรากฎหมายโดยกำหนดหลักการและรายละเอียดของกฎหมายก็ได้แล้วแต่จะพอใจ หรือจะกำหนดเฉพาะหลักการของกฎหมายและให้ฝ่ายบริหารตรากฤษฎีกาเพื่อกำหนดรายละเอียดของกฎหมายนั้นก็ได้ อีกทั้งจะกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการบังคับใช้กฎหมายก็ย่อมทำได้ทั้งสิ้น

อนึ่ง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติในประเทศที่มีการปกครองในระบอบรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศทั้งหลายในภาคพื้นทวีปยุโรปซึ่งเป็นผู้สร้างต้นแบบของระบอบดังกล่าวว่า รัฐสภาจะตรากฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารตราข้อบังคับ (กฤษฎีกา) ในเรื่องใดๆ โดยไม่กำหนดหลักการของกฎหมายหรือกรอบในการตรากฎหมายนั้นมิได้พราะการกระทำเช่นนั้นเท่ากับเป็นการโอนอำนาจอธิปไตยที่ปวงชนมอบให้รัฐสภาเป็นผู้ใช้ในนามของประชาชาติทั้งมวลไปให้ฝ่ายบริหารใช้แทน อันเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของปวงชน

สรุป

ในระบอบรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายนิติบัญญัติอาจตรากฎหมายโดยกำหนดหลักการหรือกรอบในการตรากฎหมายและให้อำนาจฝ่ายบริหารตราข้อบังคับ (กฤษฎีกา) เพื่อกำหนดรายละเอียดของกฎหมายนั้นภายใต้หลักการหรือภายในกรอบของกฎหมายที่รัฐสภาวางหลักการไว้ได้

อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนฉบับเต็มที่ 50/2542   ในการวินิจฉัยประเด็นกฎหมายในเรื่องอำนาจในการตรากฎหมายของรัฐสภา