ข้อคิดเกี่ยวกับการรวมพรรคการเมือง

โดย อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ เกตุทัตศาสตราภิชาน
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน 25 กุมภาพันธ์ 2548

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 70 รับรองการรวมพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ หรือรวมเข้าเป็นพรรคการเมืองเดียวกับอีกพรรคหนึ่ง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรวมพรรคซึ่งระบุไว้ในมาตราต่างๆ ของหมวด 5

การรวมพรรคการเมืองดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการรวมเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือการรวมเข้าเป็นพรรคเดียวกับพรรคที่เป็นหลักจะมีกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเดิมที่ถูกยุบต้องย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ หรือไปสังกัดพรรคการเมืองที่เป็นหลัก หรือไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นภายในหกสิบวัน แล้วแต่กรณี ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 72 และมาตรา 73

การโอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองใดไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น น่าจะขัดต่อเจตนารมณ์ของผู้เลือกตั้งซึ่งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกของพรรคที่ต้องถูกยุบไปรวมกับพรรคอื่นตามมาตรา 72และมาตรา 73 ทั้งยังเป็นผลให้ความสมดุลของพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรก่อนการรวมพรรคเปลี่ยนไป ดังตัวอย่างที่จะนำมาแสดงดังนี้

สมมุติว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหนึ่ง มีสมาชิกของพรรคต่างๆ ได้รับเลือกตั้ง 500 คน เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 400 คน และเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองต่างๆ มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร (รวมทั้ง 2 ประเภท) ดังนี้

พรรค ก. 300 ที่นั่ง

พรรค ข. 100 ที่นั่ง

พรรค ค. 50 ที่นั่ง

พรรค ง. 50 ที่นั่ง

สัดส่วนที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคต่างๆ ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นความสมดุลของพรรคการเมืองต่างๆ ในระดับหนึ่ง ตามเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทยซึ่งทุกพรรคการเมืองต้องเคารพ เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2541 มาตรา 3 บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน…” ฉะนั้น หากมีการรวมพรรคการเมืองภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป เช่นมีการรวมพรรคการเมืองพรรค ก.กับพรรค ข.เข้าเป็นพรรคเดียวกัน โดยพรรค ก.เป็นพรรคหลักความสมดุลของพรรคการเมืองทั้งหลายซึ่งมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจะเปลี่ยนไป

กล่าวคือตามตัวอย่างดังกล่าว พรรค ก. จะมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นเป็น 400 ที่นั่ง ซึ่งประกอบด้วยที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคที่มีอยู่ก่อนการรวมพรรค 300 ที่นั่ง และที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรค ข. ซึ่งถูกยุบและมารวมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรค ก. อีก 100 ที่นั่งส่วนพรรค ค. และ พรรค ง. คงมีที่นั่งเท่าเดิม

ตามตัวอย่างดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า การรวมพรรคการเมืองภายหลังการเลือกตั้งย่อมเป็นผลให้ความสมดุลของพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเปลี่ยนไปจากที่กำหนดโดยเจตนารมณ์ของผู้เลือกตั้ง

ด้วยเหตุนี้การรวมพรรคการเมืองตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพุทธศักราช 2541 หมวด 5 จึงขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทยผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งกำหนดความสมดุลของพรรคการเมืองต่างๆ ไว้แล้วในระดับหนึ่ง

อนึ่ง การรวมพรรคการเมืองดังกล่าวข้างต้น เป็นการเลียนแบบการควบบริษัทจำกัดเข้ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายเอกชน(Private Law) ดังจะเห็นได้ว่าตามนัยของมาตรา 1238 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บริษัทจำกัดหนึ่งอาจควบเข้ากับบริษัทจำกัดอื่นได้ตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์และวิธีการที่ระบุไว้ในบทบัญญัติของประมวลกฎหมายดังกล่าวการควบบริษัทจำกัดจึงสอดคล้องกับหลักกฎหมายเอกชน ซึ่งมีหลักการพื้นฐานว่า เจตนารมณ์ของปัจเจกบุคคลเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีได้

แต่ตามหลักการพื้นฐานของกฎหมายมหาชนนั้น ประโยชน์มหาชน(Public Interest) ย่อมอยู่เหนือประโยชน์ส่วนบุคคล(Individual Interest)

ดังนั้น การที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนนำหลักการวิธีการของกฎหมายเอกชนมาใช้กับพรรคการเมืองโดยเรียกชื่อให้ต่างกันว่า “การรวมพรรคการเมือง” จึงน่าจะไม่ชอบด้วยหลักการของกฎหมายมหาชน

อนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่าการรวมพรรคการเมืองภายหลังการยุบสภาหรือเมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งคณะแล้ว น่าจะกระทำได้เพราะการรวมพรรคในกรณีเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนเจตนารมณ์ของผู้เลือกตั้ง

แต่ทั้งนี้ต้องกระทำก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเนื่องจากเหตุใดเหตุหนึ่งดังกล่าวข้างต้น แต่ในทางปฏิบัติมักจะเป็นไปได้ยาก เพราะการรวมพรรคในกรณีเช่นว่านี้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้ประโยชน์แต่อย่างใด

บทความนี้เป็นบทความทางวิชาการ มิได้ประสงค์ให้คุณให้โทษแก่พรรคการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นการแสดงทรรศนะของผู้เขียนโดยสุจริตใจเพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาว่าการรวมพรรคการเมืองนั้นถูกต้องตามหลักกฎหมายมหาชนซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับพรรคการเมืองหรือไม่

จึงหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนบ้างไม่มากก็น้อย