หลักกฎหมายว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำขององค์กรของรัฐ

ระบบนิติรัฐเป็นถ้อยคำของนักกฎหมายในประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) ความคิดเกี่ยวกับ “นิติรัฐ” ใกล้เคียงกับความคิดเกี่ยวกับ “การปกครองโดยกฎหมาย” (The Rule of Law) ของนักกฎหมายในประเทศที่ใช้ระบบ Common Law

ในประเทศทั้งหลายที่มีระบบกฎหมายเป็นระบบ “นิติรัฐมีหลักการทั่วไปของกฎหมายว่า รัฐต้องเคารพกฎหมาย ดังนั้น การกระทำทางกฎหมาย (L’acte juridique) ซึ่งหมายถึง การกระทำที่มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือองค์กรของรัฐจึงต้องชอบด้วยกฎหมายและอยู่ภายใต้การควบคุมทางกฎหมายของศาล ทั้งนี้ เพื่อให้ปัจเจกบุคคลมีหลักประกันสิทธิและเสรีภาพที่มั่นคงในอันที่จะไม่ถูกละเมิดโดยองค์กรของรัฐ  ฉะนั้น ในประเทศเหล่านั้น ผู้มีส่วนได้เสียในการกระทำดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำในรูปแบบของคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับ จึงมีสิทธิร้องต่อศาลให้เพิกถอนการกระทำดังกล่าวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ แม้ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายรับรองสิทธิเช่นว่านั้น ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการของระบบนิติรัฐ

อย่างไรก็ดี ในบางกรณีรัฐสภาอาจตรากฎหมายกำหนดว่า การกระทำใดของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือองค์กรของรัฐไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของศาลได้ ซึ่งถืว่ากรณีดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นของหลักการทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาแสดงให้เห็นว่าระบบกฎหมายไทยเป็นระบบ “นิติรัฐ”

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาที่ 146-147/2510  ว่า “ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้อุทธรณ์คำสั่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร และกฎหมายบัญญัติว่า คำวินิจฉัยเป็นที่สุดนั้น หมายความว่า คำวินิจฉัยนั้นจะเป็นที่สุดก็ต่อเมื่อมีคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ให้อำนาจมีคำสั่งวินิจฉัยนั้น มิได้หมายความว่าแม้คำสั่งวินิจฉัยนั้นจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็จะถึงที่สุดนำมาฟ้องร้องต่อศาลไม่ได้ ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ว่าคำสั่งนั้นถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” คำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าระบบกฎหมายไทยเป็นระบบ “นิติรัฐ”

การใช้อำนาจองค์กรของรัฐต้องชอบด้วยกฎหมาย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบกฎหมายเป็นระบบนิติรัฐ (Ètat De Droit) ซึ่งในทางทฤษฎีหมายถึงระบบกฎหมายที่มีหลักการทั่วไปว่า รัฐต้องเคารพกฎหมาย ดังนั้น การกระทำขององค์กรทั้งหลายของรัฐในประเทศไทย จึงต้องชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้น ในกรณีที่กฎหมายให้อำนาจองค์กรของรัฐกระทำการใด แม้กฎหมายจะมิได้บัญญัติว่าการใช้อำนาจนั้นต้องชอบด้วยกฎหมายก็ตาม ก็ต้องตีความกฎหมายไปในทางที่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว กล่าวคือ ต้องตีความว่าด้วยการใช้อำนาจนั้นต้องชอบด้วยกฎหมาย

การกระทำทางกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือองค์กรของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่ง กฎ หรือข้อบังคับอยู่ภายใต้การควบคุมทางกฎหมายของศาล เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งถือว่าเป็นข้อยกเว้น

อ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็ม ที่ 1/2543

ที่ 13/2543