ความช่วยเหลือของศิษย์เก่ากับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม

อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มีนาคม 2564


มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ มธก. ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2477 เป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475

ธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 2 ของประเทศไทย ตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อพัฒนาประเทศและความอยู่ดีกินดีของประชาชนทุกคน

ในช่วงระยะเวลาประมาณ 15 ปีแรกของการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยก็ทำหน้าที่ได้ดี เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่ให้โอกาสแก่ประชาชนทุกคนได้เข้าศึกษาวิชาการศึกษาชั้นสูงอย่างกว้างขวาง ในการพัฒนาตนเอง และพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการรัฐประหาร วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ มธก. ได้ถูกรัฐบาลเผด็จการทหารเข้าควบคุม และสกัดกั้นความเจริญเติบโตของมหาวิทยาลัย ไม่สามารถทำหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่ได้สถาปนามหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ.2477 เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศไทยในราวปี พ.ศ.2500 ฐานะการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้ลดลงอย่างมาก อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้น 2 หรือชั้น 3 ของประเทศไทย

หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของการต่อสู้ของชาวธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และได้กลับมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศไทย  ซึ่งเป็นที่มาของการเขียนบทความนี้ที่ศิษย์เก่าและผู้ที่รักธรรมศาสตร์จำนวนมากได้ช่วยเหลือมหาวิทยาลัยในด้านต่าง ๆ  โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยจะกล่าวถึงบางเรื่องในหัวข้อสำคัญ 2 เรื่อง ดังต่อไปนี้

  1. เปรียบเทียบบทบาททางวิชาการในด้านการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยในช่วง 50 ปีแรก พ.ศ.2477 ถึง พ.ศ.2527 กับการกลับมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ พ.ศ.2529 ถึงปัจจุบัน
  2. การหนุนช่วยของศิษย์เก่าทางด้านการเมือง กับด้านงบประมาณ และการช่วยเหลือจากต่างประเทศ

1.เปรียบเทียบบทบาททางวิชาการในด้านการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยในช่วง 50 ปีแรก พ.ศ. 2477 ถึง พ.ศ. 2527 กับการกลับมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ พ.ศ. 2529  ถึงปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศต้องสามารถผลิตกำลังคนสนองตอบความต้องการของประเทศได้ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเลียนแบบอย่างจากมหาวิทยาลัยในทวีปยุโรป โดยมีประเทศฝรั่งเศส และประเทศอังกฤษเป็นอย่างแบบอย่าง ในสมัยนั้นสถาบันการศึกษาที่จะเรียกว่าเป็น “มหาวิทยาลัย” นั้น จะต้องประกอบด้วยคณะวิชาอย่างน้อย 2 กลุ่มวิชาคือ

  1. คณะนิติศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์ หรือคณะสังคมศาสตร์
  2. คณะแพทยศาสตร์

ต่อมาความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี       มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งสำคัญที่ผลิตกำลังคน และวิทยาการต่าง ๆ ในการพัฒนาประเทศนั้น จะมีคณะวิชาการต่าง ๆ มากมาย และแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

  1. กลุ่มคณะวิชาทางด้านสังคมศาสตร์

คณะวิชาในด้านสังคมศาสตร์นั้นมีมากมาย  เช่นอักษรศาสตร์  นิติศาสตร์  บัญชีและการบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และคณะวิชาต่าง ๆ ทางด้านสังคมศาสตร์ และอักษรศาสตร์

  1. กลุ่มคณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คณะวิชาในกลุ่มที่สองนี้จะมีกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นแกนนำ เป็นกลุ่มคณะวิชาที่มีความสำคัญในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของสังคม เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน

  1. กลุ่มคณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ

กลุ่มวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ นั้น เดิมอยู่ในกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างไร

ก็ตาม กลุ่มคณะวิชากลุ่มที่สามนี้ได้มีการพัฒนาออกไปมากมาย ดังนั้น จึงจัดเป็นคณะวิชากลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งมีคณะวิชามากมาย เช่น แพทย์ศาสตร์ ทันตแพทย์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน 50 ปีแรก พ.ศ.2477 – พ.ศ.2527

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วง 50 ปีแรก จัดการเรียนการสอนเพียงกลุ่มคณะวิชาทางด้านสังคมศาสตร์เพียงกลุ่มเดียว ไม่สามารถขยายการพัฒนาไปทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพราะถูกรัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองควบคุม และข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ เรื่องการเงินหรืองบประมาณสนับสนุน ไม่สามารถผลิตกำลังคนสนองตอบความต้องการกำลังคนของประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในขณะเดียวกันได้มีมหาวิทยาลัยที่เกิดใหม่จำนวนมาก ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐบาลและเอกชน

ในสถานการณ์ดังกล่าวได้ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ลดความสำคัญลง การผลิตกำลังคนสนองตอบความต้องการของสังคมเศรษฐกิจไทย จนกลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้น 2 หรือ 3 ของประเทศไทย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงปี พ.ศ.2529 ถึงปัจจุบัน

ความพยายามที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้าได้มีมาโดยตลอด แต่ก็มีปัญหาอุปสรรคมากมาย อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ได้ทำให้ชาวธรรมศาสตร์กับมามีสิทธิมีเสียงในการบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัยมากขึ้น

จุดเริ่มต้นได้เกิดขึ้น เมื่อศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยได้ขึ้นเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก เมื่ออาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เป็นอธิการบดีในช่วงปี พ.ศ.2518-2519  แม้ว่าท่านจะมีเวลาเป็นอธิการบดีเพียงประมาณ 2 ปี แต่ท่านก็ได้วางรากฐานการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปัจจุบัน สำหรับรากฐานการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมี 2 เรื่องคือ

  • การขยายเรียนการสอนไปที่ศูนย์รังสิต และการวางแผนแม่บทในการพัฒนามหาวิทยาลัย
  • การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ และระบบการบริหารมหาวิทยาลัย ที่สามารถพัฒนามหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา

การขยายการเรียนการสอนไปที่ศูนย์รังสิต และการวางแผนแม่บทในการพัฒนามหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นอกจากจะถูกควบคุมความเจริญเติบโตจากรัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองแล้ว มหาวิทยาลัยยังถูกจำกัดด้านขนาดพื้นที่ขยายงานของมหาวิทยาลัยด้วย กล่าวคือเดิมถูกจำกัดด้วยขนาดพื้นที่เพียงประมาณ 50 ไร่ที่วิทยาเขตท่าพระจันทร์

ในขณะที่เป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาอธิการบดี ได้เสนอให้มหาวิทยาลัยซื้อที่ดินจากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำนวนประมาณ 700 ไร่ ที่ตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรี ต่อมาได้นำพื้นที่ดินดังกล่าวแลกเปลี่ยนพื้นที่กับกระทรวงอุตสาหกรรมขนาดพื้นที่ประมาณ 2,700 ไร่ หรือเป็นศูนย์รังสิตในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกันท่านได้วางแผนแม่บทในการพัฒนามหาวิทยาลัยในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการขยายการเรียนการสอนไปทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วย

การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ และระบบการบริหารมหาวิทยาลัย

การพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สำคัญที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้สร้างไว้คือ การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ และระบบการบริหารมหาวิทยาลัยถึงปัจจุบัน

อาจารย์นงเยาว์ ชัยเสรี คือผู้นำรุ่นใหม่ที่ทำให้แผนการพัฒนามหาวิทยาลัยของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เกิดเป็นจริงขึ้นมา คือการขยายการเรียนการสอนนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งไปศูนย์รังสิต และก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

อธิการบดีมี 4 คนต่อมาคือ

  1. อาจารย์นงเยาว์ ชัยเสรี พ.ศ.2525-2531
  2. อาจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม พ.ศ.2531-2534
  3. อาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร พ.ศ.2534-2537 และ 2538-2541  
  4. อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ พ.ศ.2537-2538

อธิการบดีทั้ง 3 คน เคยเป็นรองอธิการบดีสมัยที่อาจารย์นงเยาว์ ชัยเสรี เป็นอธิการบดี พ.ศ.2525-2531  อธิการบดีทั้ง 3 คน ในช่วงปี พ.ศ.2531-2541  ได้มีบทบาทสำคัญ พัฒนาเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนสามารถกลับขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยจะต้องเริ่มต้นจากอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พ.ศ.2517-2518  เป็นผู้เริ่มต้นของความคิด  และอาจารย์นงเยาว์ ชัยเสรี พ.ศ.2525-2531 เป็นผู้ลงมือปฏิบัติ ส่วนอธิการบดีอีก 3 คน พ.ศ.2531-2541  เป็นผู้ที่สานต่อการทำงาน จนทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย

  1. การหนุนช่วยของศิษย์เก่าด้านการเมืองกับด้านงบประมาณ และการช่วยเหลือจากต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เราได้เห็นในปัจจุบันนั้น ต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ มามากมาย ตั้งแต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 ได้เผชิญปัญหาอุปสรรคที่สำคัญมี 2 เรื่อง คือ

  1. ปัญหาการถูกควบคุมทางการเมืองหรือการปิดล็อกทางการเมืองในการควบคุมมหาวิทยาลัย
  2. ปัญหาข้อจำกัดทางด้านงบประมาณในการพัฒนามหาวิทยาลัย

การพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้กลับมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศ นั้น

จะต้องแก้ปัญหาอุปสรรคทั้ง 2 เรื่องให้ได้ ดังนั้น จะขอกล่าวถึงรายละเอียดของทั้ง 2 เรื่องโดยสังเขป เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทราบประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่เคยมีใครได้กล่าวถึงมาก่อน

ปัญหาการถูกควบคุมทางการเมือง

ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2490 เป็นต้นมา ชาวธรรมศาสตร์ได้ต่อสู้กับการถูกควบคุมทางการเมืองมาโดยตลอด เพราะการเมืองของประเทศได้ถูกควบคุมโดยกลุ่มเผด็จการทหาร เมื่อการเมืองของประเทศได้เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหลัง 14 ตุลาคม 2516 ทิศทางการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยจึงเดินไปในทางที่ดีขึ้น โดยเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.2525 และสามารถลงมือพัฒนาเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยได้อย่างเต็มที่ เมื่อสามารถ “ปลดล็อก” การถูกควบคุมทางการเมืองได้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2531 โดยจะขอกล่าวสรุปเป็น 2 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่หนึ่ง  การขยายการเรียนการสอนไปที่ศูนย์รังสิต และสามารถตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ ในปี พ.ศ.2529  ซึ่งใช้เป็นฐานในการพัฒนามหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา

ขั้นตอนที่สอง  การวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัย กล่าวคือจะต้องพิจารณาว่าควรจะเริ่มต้นจากการตั้งคณะวิชาอะไร เพื่อให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถพัฒนาตามที่มหาวิทยาลัยอื่นที่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้

ในสมัยนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการเรียนการสอนอยู่แต่เฉพาะกลุ่มวิชาทางด้านสังคมศาสตร์  แต่ไม่มีกลุ่มคณะวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มคณะวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ  ในฐานะที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีโอกาสได้เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงได้วางแผนหรือยุทธศาสตร์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยคือจะต้องเริ่มต้นจากคณะวิชาที่เป็นแกนสำคัญในการพัฒนาในอนาคตคือ

  • การตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนากลุ่มคณะวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ตั้งคณะแพทยศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และเป็นแกนนำของการพัฒนาคณะวิชาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ

อาจารย์นงเยาว์  ชัยเสรี  ได้ก่อตั้งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในปี พ.ศ.2530  และพยายามจะตั้งคณะแพทยศาสตร์ ในรูปแบบของมหาวิทยาลัยของรัฐ และในรูปแบบของการเลี้ยงตนเอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ในปี พ.ศ.2531 เมื่อต้องแก้ปัญหาของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้พบว่าจะแก้ปัญหาได้สำเร็จ จะต้องเป็นโรงพยาบาลที่สอนทางด้านการแพทย์ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยของรัฐอื่นใช้ได้  ดังนั้น จึงได้เสนอแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยใหม่ด้วยการตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะ แพทยศาสตร์ แล้วส่งไปให้ทบวงมหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติการก่อตั้ง

อย่างไรก็ตาม ได้ใช้ความพยายามต่าง ๆ มากมายแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุผลว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังไม่มีความพร้อมในการจัดตั้ง ในขณะเดียวกันก็ไม่ให้แนวทางการสนับสนุนในการก่อตั้ง

เหตุผลดังกล่าว หมายความว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่มีทางก่อตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ได้เลย เพราะไม่มีความพร้อมในการก่อตั้ง เพราะการเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุน ก็ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุน แล้วจะมีความพร้อมได้อย่างไร เป็นการ “ปิดล็อก” ทางการเมือง เพื่อสกัดกั้นการพัฒนาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นเรื่องเหตุผลทางการเมืองไม่ใช่เหตุผลทางวิชาการ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญจะต้องปลดล็อกทางการเมืองดังกล่าวให้ได้

การปลดล็อกทางการเมืองที่ควบคุมความเจริญเติบโตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วงปี พ.ศ.2529 ถึง 2534 เศรษฐกิจของประเทศไทยได้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว บางปีโตถึงร้อยละ 13 ต่อปี ปรากฏว่า ได้มีการขาดแคลนกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิศวกรรมศาสตร์

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ได้วางแผนการพัฒนาก่อตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่าง ๆ และตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดังนั้น แผนการตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ศูนย์รังสิต จึงน่าจะอยู่ในแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยในภูมิภาคด้วย

ดังนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงให้การจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นแกนนำในการขอการสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง

ในราวต้นเดือนกันยายน พ.ศ.2531 ได้ทราบข่าวว่า เรื่องของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี    สุรนารี และมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็น “วาระจร” ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2531

ได้เกิดความคิดขึ้นมาทันทีว่า เรื่องของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะต้องไปกับเรื่องของการตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาคให้ได้ เพราะเป็นเรื่องในแนวเดียวกัน

ในเรื่องดังกล่าวได้ปรึกษากับ คุณอนันต์ อนันตกูล เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีและจะหาทางนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในขณะเดียวกันให้ประสานงานกับศิษย์เก่าท่านอื่น ๆ ที่เป็นรัฐมนตรีด้วย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 13 คน  ได้ประสานงานกับคุณประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ ก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี พร้อมทั้งรับอาสาที่จะประสานงานกับรัฐมนตรี อื่น ๆ ให้ด้วย

ในที่สุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลให้จัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2531

โดยสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งมติของคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 15 กันยายน 2531 ถึงทบวงมหาวิทยาลัยในข้อ 7. ความว่าดังนี้

“ให้ทบวงมหาวิทยาลัยรับไปพิจารณาเสนอจัดตั้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาด่วน

มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เปรียบเหมือนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับอนุมัติการจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ พร้อมกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอื่นในวันนั้น

เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถปลดล็อกทางการเมืองได้สำเร็จ  ซึ่งเกิดจากความพยายามของมหาวิทยาลัย และศิษย์เก่าจำนวนมาก

ถ้าปราศจากความช่วยเหลือของศิษย์เก่า และผู้ที่รักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนมากแล้ว เราจะไม่ได้เห็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นจริงทุกวันนี้

ปัญหาข้อจำกัดด้านงบประมาณในการพัฒนามหาวิทยาลัย    

เมื่อสามารถปลดล็อกทางการเมืองที่สกัดกั้นความเจริญเติบโตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยังมีปัญหาอุปสรรคที่สำคัญอีก 2 เรื่อง คือ จะหาเงินและทรัพยากรจากที่ไหนมาพัฒนามหาวิทยาลัยในระยะเริ่มแรก  และการหาผู้นำที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารและพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ให้เจริญก้าวหน้า และสามารถพัฒนาในเวลาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนั้น คือจะหาเงินหรือทรัพยากรจากที่ไหนมาใช้พัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ในที่นี้จะขอกล่าวถึงคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ได้รับการหนุนช่วยจากศิษย์เก่าด้านงบประมาณในระยะเริ่มแรก และได้ช่วยให้เกิดผลการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดผลต่อการขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น และการก่อตั้งสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร หรือ SIIT ในเวลาต่อมา

เมื่อได้รับอนุมัติการก่อตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้แล้ว ได้เกิดแนวความคิดว่าจะต้องใช้คณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาความเจริญเติบโตของประเทศ โดยดูแบบอย่างจากประเทศสิงคโปร์ ดังนั้น จึงได้วางรากฐานของคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นคณะวิชาและเป็นรากฐานการขยายงานทางวิชาการ

จากการพัฒนาดังกล่าว จะต้องเริ่มต้นด้วยการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล คือการสนับสนุนจากเงินงบประมาณแผ่นดินในเบื้องแรก และการขอเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ

แผนการพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเริ่มต้นด้วยการวางรากฐานเป็นคณะวิชาขนาดใหญ่ และรับคนเข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก จนสามารถขยายการพัฒนาสืบเนื่องต่อไป แผนการพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้เริ่มต้นดังนี้

(1)  กำหนดจำนวนนักศึกษาที่รับเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีปีละ 500 คน เมื่อรวมทั้งหมดแล้วจะเป็น 2,000 คน

ในขณะนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับปีละ 500 คน  แต่มหาวิทยาลัยนานยางของประเทศสิงคโปร์ รับปีละ 1,200 คน

(2)  เมื่อรับเข้าศึกษาปีละ 500  คน   งบประมาณที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้านการก่อสร้างและการพัฒนาต่าง ๆ ก็จะต้องมากพอสมควร ซึ่งจะเป็นรากฐานการพัฒนาของมหาวิทยาลัยในปีต่อไป

(3)  เมื่อเป็นคณะวิชาขนาดใหญ่ก็จะต้องได้รับการสนับสนุนทางด้านกำลังคน และด้านอื่น ๆ จากรัฐบาลด้วย

อย่างไรก็ตาม แผนการรับเข้าศึกษาปีละ 500 คนนั้น ได้รับการคัดค้านจากเจ้าหน้าที่วิเคราะห์งบประมาณในครั้งแรก เพราะเขาต้องการประหยัดการใช้จ่ายทางด้านงบประมาณ เขาเสนอให้มหาวิทยาลัยรับเข้าศึกษาปีละ 250 คน เพราะเป็นการเปิดสอนเป็นครั้งแรก และไม่มีรากฐานทางด้านเทคโนโลยีมาก่อน

มหาวิทยาลัยได้ให้เหตุผลโต้แย้งกลับไปว่า ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวนมาก เศรษฐกิจของประเทศได้ขยายตัวในอัตราที่สูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่มีชื่อเสียง และรัฐบาลก็ให้การสนับสนุนการก่อตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์แล้ว มหาวิทยาลัยมีขีดความสามารถในการพัฒนาได้มาก และกำลังขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศด้วย

การหนุนช่วยจาก ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ

ในขณะนั้น มหาวิทยาลัยได้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณที่เป็นศิษย์เก่าและผู้ที่รักมหาวิทยาลัยจำนวนมาก

แต่ที่สำคัญที่ควรจะกล่าวถึง คือ ท่านรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ  ท่านเข้าใจเหตุผลของมหาวิทยาลัย และความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ท่านได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งมีผลต่อการได้งบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ในระยะเริ่มแรก พอจะสรุปได้ดังนี้

คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตศูนย์รังสิต ทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันงบประมาณเพื่อสร้างกลุ่มอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ 4 หลัง พร้อมโครงสร้างพื้นฐาน (ประปา-ไฟฟ้า) วงเงินค่าก่อสร้าง 345,000,000 บาท โดยมีขนาดพื้นที่ 36,015 ตารางเมตร

ด้วยขนาดพื้นที่ขนาดใหญ่ และสาธารณูปโภคในระยะเริ่มแรกนั้น ทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์มีรากฐานการขยายความเจริญเติบโตอย่างมั่นคง จนเป็นคณะวิชาขนาดใหญ่ในปัจจุบัน

ด้วยโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ดังกล่าว ได้ทำให้เห็นความสำคัญของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ในการขยายการผลิตวิศวกรในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำให้มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ได้รับความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Grant Aid) จากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น และการก่อตั้ง SIIT หรือสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรในเวลาต่อมา

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2532 และรับนักศึกษารุ่นแรกในปี 2533 โดยมีศาสตราจารย์ ดร. นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย เป็นคณบดี  ในระยะแรกก็ได้ประสบความยากลำบากมากมาย เนื่องจากความไม่พร้อมในด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย  แต่ด้วยการทุ่มเทความพยายามของคณะผู้บริหาร อาจารย์ และนักศึกษารุ่นแรกก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดี และทำชื่อเสียงแก่มหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงในการผลิตกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยผลิตกำลังคนทางด้านสังคมศาสตร์เพียงอย่างเดียว

การขอความช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่น

แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณจากรัฐบาลในระยะเริ่มแรกแล้ว แต่ก็ยังไม่พอต่อการพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์อย่างรวดเร็ว ในขณะนั้น เศรษฐกิจของไทยได้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการและโรงงานของประเทศญี่ปุ่นก็ได้ขยายฐานการผลิตเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เพื่อเป็นฐานในการส่งออก เนื่องจากค่าเงิน “เยน” ต้องปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากข้อตกลงการปรับค่าเงินตราระหว่างประเทศจากการประชุม และทำความตกลงที่เรียกว่า “Plaza Accord”

ในการขอความช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่นในสมัยของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นั้น มหาวิทยาลัยได้รับความช่วยเหลือจากคุณเดช บุญ-หลง รองเลขาธิการฝ่ายการเมือง ที่ได้ประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ เป็นอย่างดี  ในที่สุดรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นก็ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์  ซึ่งได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดการตั้งสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร หรือ SIIT ในเวลาต่อมา

การก่อตั้งสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร

มีอยู่วันหนึ่ง คุณมานิจ สุขสมจิตร กรรมการสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหารของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาบอกว่า สภาอุตสาหกรรมต้องการตั้งมหาวิทยาลัยผลิตบุคลากรทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยจะขอความช่วยเหลือจากสมาคมการค้าของญี่ปุ่นและรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น  ในขณะนั้น  มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ได้ยื่นขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว ดังนั้น ถ้าได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรม ก็จะมีโอกาสทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น

ในขณะนั้น คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี มหาวิทยาลัยได้ประสานงานกับคุณประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยได้นัดทานอาหารกันที่โรงแรมปริ๊นเซส ที่ถนนหลานหลวง  การพูดคุยในวันนั้นเป็นไปด้วยดีและตกลงจะร่วมมือกันตั้งสถาบันที่ผลิตวิศวกรที่มีคุณภาพของประเทศไทย

ต่อมา คุณอานันท์ ปันยารชุน  ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้ คุณหญิงนิรมล สุริยศักดิ์ เป็นผู้ประสานงานต่อ จนในที่สุดได้ตั้งสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (Sirindhorn International Institute of Technology Thammasat University) หรือ SIIT  เป็นสถาบันอิสระภายใต้การกำกับของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรับปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำแก่รัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า และการตั้ง SIIT นั้น คือ ศาสตราจารย์ ดร. นิชิโน (Fumio Nishino) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียว และเคยเป็นรองอธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งรู้เรื่องการก่อตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ของธรรมศาสตร์เป็นอย่างดี

เขาได้รู้ว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ของธรรมศาสตร์ได้รับงบประมาณการก่อสร้าง คณะวิชาขนาดใหญ่มีพื้นที่รวมกันในขั้นแรกถึง 36,015 ตารางเมตร งบประมาณ 345 ล้านบาท และมีงบประมาณผูกพันการพัฒนาอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการตั้ง SIIT นั้น จะมีความสำเร็จตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมการค้าญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าหมายไว้

กล่าวโดยสรุป การสามารถปลดล็อกทางการเมือง และการช่วยเหลือของ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ ในด้านการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลได้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคณะวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในระยะเริ่มแรก นั้น ได้มีส่วนทำให้มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์สามารถยังเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศไทย

ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารและคณาจารย์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็ได้ทุ่มเทการทำงานอย่างหนักในการพัฒนาคณะด้านต่าง ๆ ที่ได้รู้จักกันในชื่อ “TSE” หรือ Thammasat School of Engineering” มีชื่อเสียง ได้ผลิตบุคลากรเป็นจำนวนมากออกไปรับใช้สังคมไทย ซึ่งจะพิจารณาได้จากเรื่องราวที่ปรากฏใน Youtube หลายเรื่อง  ในปัจจุบันศิษย์เก่าของคณะวิศวกรรมศาสตร์รุ่นแรกได้เป็นผู้อำนวยการของ “สวทช” หรือ “NETEC” ศิษย์เก่าจำนวนมากได้ทำงานทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน เพื่อช่วยพัฒนาสังคมเศรษฐกิจของประเทศไทย สมกับอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยที่ว่า

“ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”

อุดมการณ์ดังกล่าว อยู่ในจิตใจของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกคน ทั้งในสายสังคมศาสตร์  สายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และสายทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ  ในการรับใช้สังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สายวิทยาศาสตร์สุขภาพและโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดในบทความนี้  การพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สามารถกลับมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศไทย นั้น เป็นการหนุนช่วยของชาวธรรมศาสตร์ทุกคน