“ด้วยความรำลึกถึงท่านศาสตราจารย์ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ”
ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2539-2543 ผมได้มีโอกาสทำงานที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครในฐานะทีมงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.พิจิตต รัตตกุล ในฐานะที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในช่วงปี พ.ศ. 2539-2540 และในฐานะรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระหว่างปี พ.ศ. 2540-2543 โดยหนึ่งในภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือการกำกับงานด้านการงบประมาณและการคลัง นอกเหนือจากงานด้านวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมจราจร และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ด้วยพื้นฐานการศึกษาด้านวิศวกรรมโยธา ที่ทำงานกับภาคเอกชนมาโดยตลอดในวัยเพียง 34 ปี จึงทำให้ภารกิจด้านการงบประมาณและการคลังดูจะเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในตอนนั้น ด้วยความโชคดีของผมที่ได้นั่งทำงานติดกับห้องทำงานของท่านศาสตราจารย์ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ ที่ท่านเคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผมจึงได้กราบขอเป็นลูกศิษย์ ขอท่านช่วยให้คำแนะนำในการทำงาน ในฐานะประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้านการคลังและการงบประมาณ ตลอดระยะเวลาที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับท่านทำให้เข้าใจถึงคำว่า บารมีทาน เพราะทุกครั้งที่ผมร่วมเดินทางไปชี้แจงงบประมาณกับท่านอาจารย์ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร หรือสภากรุงเทพมหานคร ในฐานะตัวแทนของฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานคร จะพบแต่การต้อนรับด้วยความเกรงอกเกรงใจในตัวท่านอาจารย์จากเจ้าของหน่วยงาน แม้แต่ในขั้นตอนการประชุมภายในเพื่อการจัดเตรียมงบประมาณ ท่านจะแสดงถึงความเมตตาด้วยการให้ความรู้ตอบข้อซักถามหรือให้คำแนะนำในฐานะผู้ให้กับทุกคนที่ร่วมงานด้วยเสมอ
ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองงบประมาณประจำปี 2540 ร่วมกับท่าน ในการประชุมดังกล่าวท่านได้สอนข้าราชการกรุงเทพมหานครถึงรากศัพท์ของคำว่างบประมาณ ‘งบ’ ที่แปลว่า ปิดหรือรวม ส่วนคำว่า ‘ประมาณ’ แปลว่า การคาดคะเน หรือการกะอย่างคร่าวๆ ‘งบประมาณ’ จึงหมายถึง การคาดคะเนยอดรวมของรายรับและรายจ่ายอย่างคร่าวๆ ซึ่งควรเป็นเลขลงตัวคร่าวๆ เช่น 20,000,000 บาท (ยี่สิบล้านบาท) ไม่ใช่ 19,873,216.32 บาท (สิบเก้าล้านแปดแสนเจ็ดหมื่นสามพันสองร้อยสิบหกบาทสามสิบสองสตางค์) เพราะว่าถ้ารู้ละเอียดขนาดทศนิยมก็คงไม่เรียกว่าประมาณ ท่านได้อธิบายต่อถึงคำว่า BUDGET ที่มาจากคำว่า BOUGETTE ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสโบราณ แปลว่า ถุงย่าม หรือกระเป๋า ในภาษาอังกฤษรากศัพท์ของคำว่า BUDGET หมายถึง กระเป๋าใบใหญ่ ซึ่งเสนาบดีคลังของพระราชาใช้บรรจุเอกสารต่างๆ
ณ วันที่ท่านได้จากพวกเราไป ผมในฐานะหนึ่งในผู้โชคดีที่มีโอกาสได้เป็นลูกศิษย์ของท่าน จึงขออนุญาตแบ่งปันประสบการณ์ในช่วงเวลาที่ดีของผม”
ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์
อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
มกราคม 2564