พี่อิสสระที่ศาลาว่าการ กทม.
เมื่อคราวที่ผมมีโอกาสไปทำงานที่ กทม. ในช่วงปี 2539 -2543 นั้น ด้วยความที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ มีความรู้อย่างจำกัดและไม่ลึกซึ้งในด้านระบบการคลังและงบประมาณ อยากหาผู้หลักผู้ใหญ่ชำนาญการมาช่วยให้การสนับสนุนการทำงานของข้าราชการในสายงานนี้ คุณพ่อพิชัย รัตตกุล ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่ทำงานกับสำนักงบประมาณมาหลายยุค ได้แนะนำให้ผมไปขอพี่อิสสระให้มาช่วย โดยย้ำว่านอกจากท่านจะเก่งรอบรู้แล้ว ยังเป็นคนที่สุจริตขาวสะอาด สมเป็นตัวอย่างที่งดงามของข้าราชการไทย และก็สมหวังด้วยความเมตตาของท่าน จึงได้ขอให้ท่านไปเป็นประธานคณะบริหารฯ ซึ่งคิดจัดตั้งกันขึ้นมาเอง จำนวน 38 คน ประกอบไปด้วยทั้งผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากหลายกระทรวง และครูบาอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ซึ่งแต่ละท่านให้ความกรุณาสละเวลามาทำงานให้ กทม. อย่างเต็มอกเต็มใจ และได้จัดให้มีการพบปะหารือ ทบทวนงานกัน ทุกวันจันทร์ตลอด 4 ปี
นอกจากงานดังกล่าวพวกเรายังได้ขอให้พี่อิสสระไปทำหน้าที่ประธานกรรมการปรับปรุงระบบบริหารและการคลัง ของ กทม. อีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งทำให้ท่านต้องมานั่งเกือบเป็นประจำที่ศาลาว่าการฯ ดำเนินการประชุมกับฝ่ายประจำปีละ 30 – 40 ครั้ง ครอบคลุมงานพัฒนาระบบและโครงสร้างงบประมาณและระบบบริหารคลัง , งานพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการบริหาร, งานพัฒนาระบบการบริการประชาชน ,และงานพัฒนารายได้และภาษี ความทุ่มเทที่พี่อิสสระได้ใช้ไปในการทำภารกิจดังกล่าวได้ออกดอกออกผลมาเป็น
1.คำสั่ง กทม. ประกาศในราชกิจจาฯ ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างงบประมาณกับนโยบายผู้บริหารในการกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณประจำปี
2.ได้มีการนำระบบ MIS มาใช้ในการติดตามการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณแต่ละยอดและวิเคราะห์ผลการปฎิบัติงานในภาพรวม
3.การจัดตั้งส่วนงานใหม่โดยปรับเปลี่ยนกองงบประมาณไปเป็นสำนักงานงบประมาณ สังกัดสำนักปลัดฯ และให้มีการปรับบทบาทหน้าที่วิธีการทำงานให้ทันสมัย ซึ่งพี่อิสสระได้ใช้ประสบการณ์
ของท่านจากสำนักงบประมาณของประเทศ มาปรับใช้ให้คล่องตัวและโปร่งใสยิ่งขึ้นกับระดับท้องถิ่น
4.แนวทางการลดขั้นตอนดำเนินการในระบบเอกสาร เพื่อการบริการประชาชนที่โปร่งใสและรวดเร็วขึ้นด้วยวิธีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาควบคุมและการตรวจสอบที่เป็นระบบแทน
5.นอกจากนี้มีข้อสรุปอีกหลายประเด็นที่ไม่ได้เกี่ยวกับงบประมาณและการคลังโดยตรง แต่เกี่ยวกับประสิทธิภาพการบริการประชาชน เช่น การกระจายงานจากสำนักโยธาไปให้สำนักงานเขต
และสร้างมาตรวัดความพึงพอใจของประชาชนที่ติดต่อสำนักงานเขต อีกทั้งการริเริ่มกำหนดภารกิจหน้าที่ของผู้ตรวจราชการ กทม.ให้เป็นรูปธรรมขึ้น ซึ่งสมัยนั้นมีถึง 30 – 40 คน ให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในภาพรวมของ กทม.เพื่อมิให้หน่วยงานนี้กลายเป็นสถานที่เก็บบุคลากรเพื่อรอการเกษียณเท่านั้น
จากผลงานที่พี่อิสสระได้ทิ้งไว้ให้นั้นนับเป็นคุณประโยชน์ยิ่งต่อการบริหารและการบริการประชาชน กทม. ให้เป็นองค์กรที่ทันสมัยขึ้นทันตาเห็น ซึ่งมิใช่เพียงแค่การออกมาตรการต่าง ๆ แล้วปล่อยให้เกิดผลในทางปฏิบัติกันเองเท่านั้น พี่อิสสระกลับใช้วิธีการบริหารด้วยการตามสอบถามอย่างใกล้ชิดกับส่วนงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องถี่ยิบ สอบถามตรงไหนมีปัญหาอะไรที่ท่านจะสามารถช่วยแก้ไขให้ได้ ด้วยประสบการณ์ที่มากของท่าน ทำให้ข้าราชการที่ทำงานกับท่านได้ทำงานกันด้วยอรรถรส และมีกำลังใจที่จะช่วยกันผลักดันนำองค์กรไปสู่ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับกับขนาดและจำนวนประชากรของเมืองที่ขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว
พี่อิสสระช่วยงาน กทม. อยู่หลายปี จนในระยะหลัง ท่านได้รับเลือกให้ไปเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้พวกเราข้าราชการการเมืองที่เรียกตัวเองว่า “ กลุ่มมดงาน ” และข้าราชการประจำ กทม. ที่ทำงานใกล้ชิดกับท่านต่างพลอยมีความภูมิอกภูมิใจกันถ้วนหน้า
ในขณะที่ท่านทำหน้าที่ประธานของพวกเราสลับกับพี่ปราศรัย ทรงสุรเวทย์ นั้น มีหลายเรื่องที่น่าประทับใจยิ่งในระบบความคิดใหม่ๆ ที่เป็นการริเริ่มเปิดโอกาสให้พวกเราได้นำประสบการณ์มาใช้
ตัวอย่างเล็ก ๆ ของความคิดริเริ่มเรื่องหนึ่งได้แก่ เรื่องเงินเดือนตอบแทนของพวกเรา ซึ่งปรากฏตามกฎหมายว่ามีผู้ที่สามารถได้เงินเดือนจากตำแหน่งตาม พ.ร.บ.บริหาร กทม.ปี 2522 ได้เพียง 18 คน พี่อิสสระจึงเสนอความเห็นให้ทั้ง 18 คนที่ได้รับเงินเดือนนั้น เอาเงินที่ได้มากองรวมกันแล้วหารด้วย คณะผู้บริหารทั้งหมด 38 คน เท่า ๆ กัน ซึ่งก็นับเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พวกเราผูกพันกันด้วยความกระตือรือร้น ตลอด 4 ปีที่ไม่เคยมีเรื่องราว ความขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้นเลย มีแต่คอยหยิบยื่นการสนับสนุนให้แก่กัน ทำให้การทำงานในภาพรวมเต็มไปด้วยประสิทธิภาพ ถึงแม้พวกเราจะมาจากต่างทิศ ต่างอาชีพ ต่างฐานะกัน มิหนำซ้ำยังไม่รู้จักกันมาก่อนด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะผู้อาวุโสมากประสบการณ์
จากการที่มีกติกาที่ตั้งไว้ว่าที่ปรึกษาอาวุโสเหล่านี้ท่านไม่ต้องนัดหมายใด ๆ ในการเข้าพบผู้ว่าฯ กทม. และสามารถเดินเข้าห้องผู้ว่าฯ ได้ตลอดเวลา ผมจำภาพที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกที่พี่อิสสระเดินเข้ามาในห้องทำงานผมพร้อมกระดาษในมือหลายแผ่น ยื่นให้แล้วก็กำชับว่าให้อ่านคืนนี้อย่างละเอียด สงสัยให้ถามก่อน และตัดสินใจดำเนินการโดยไม่รอช้า ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่จะให้เกิดการแก้ปัญหาด้วยความรวดเร็ว แสดงออกถึงความกระฉับกระเฉงมีประสิทธิภาพ เพราะพี่อิสสระเคยพูดเสมอว่า คน กทม. ลำบากมากแล้ว หากระบบราชการอืดอาดยืดยาดก็จะทุกข์หนักไปกว่านั้นอีก
ผลงานที่พี่อิสสระ ได้ทำไว้ให้คนกรุงเทพมหานครในหลาย ๆ เรื่อง แม้จะลืมเลือนไปจากความทรงจำบ้างแล้ว แต่ผลพวงและอานิสงส์ของการพัฒนาดังกล่าวที่ยังใช้งานเป็นประโยชน์ได้ดีต่อ กทม.อยู่จนปัจจุบัน”
ดร. พิจิตต รัตตกุล
อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
มีนาคม 2564