“20 Questions with Dr. Isra Nitithanprapas”
กรกฎาคม 2535
บทสัมภาษณ์ 20 คำถามที่สะท้อนตัวตน ดร.อิสสระ เช่น ปรัชญาการทำงาน มุมส่วนตัว และการแก้ไขปัญหาการจราจร
“ความรู้สึก ผลงานที่ภูมิใจ และงานที่หนักใจมากที่สุด”
4 กุมภาพันธ์ 2533
“งานของสำนักงบประมาณนั้นหนักมาก ต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ และเงินแผ่นดินมีจำกัด ทำให้ต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายโดยคำนึงถึงลำดับความสำคัญก่อนหลัง ซึ่งจะให้เป็นที่พอใจของทุกส่วนราชการย่อมไม่ได้ การทำงานจึงต้องเหนื่อยทั้งกายและใจ แต่ผมพอใจที่ได้เป็นข้าราชการที่สำนักงบประมาณเพราะได้มีโอกาสทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมาก ”
“ข้อคิดการป้องกันคอร์รัปชั่น”
18 พฤศจิกายน 2546
“ก่อนที่จะมีการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นให้น้อยลง ควรมีการศึกษาอย่างเป็นระบบว่ามีวิธีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างไรบ้าง สำนักงานป.ป.ช. ควรมีนักวิจัยทางสังคมศาสตร์ นักนิติศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักรัฐศาสตร์ ของตนเอง เพื่อทำการวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น และเสนอมาตรการป้องกันต่อรัฐบาล”
“ข้อคิดถึงข้าราชการ”
14 กุมภาพันธ์ 2532
“ข้าราชการทั้งหลายย่อมปรารถนาความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการด้วยกันทั้งนั้นแต่ข้าราชการที่ดีก็มิบังควรแสวงหาสิ่งนี้ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบธรรม เพราะการกระทำเช่นนั้น รังแต่จะทำให้สังคมข้าราชการของเราเป็นสังคมที่มีแต่การข่มเหงรังแกกันหาความสงบสุขมิได้”
“ข้อคิดถึงเนติบัณฑิต”
7 สิงหาคม 2545
“…..การบังคับใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวจะประสบความสำเร็จหรือไม่เพียงใด ….ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายทั้งหลายในอันที่จะช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนให้การบังคับใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างแท้จริง… ผมขออวยพรให้เนติบัณฑิต สมัยที่ 54 ทุกท่าน จงประสบความสำเร็จในการประกอบวิชาชีพกฎหมาย และเป็นที่พึ่งของประชาชนที่ใฝ่หาความยุติธรรม”
“โอวาทแด่เนติบัณฑิต”
7 สิงหาคม 2545
“คำว่า “บัณฑิต” หมายถึง ผู้ทรงความรู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์ ฉะนั้น คำว่า “เนติบัณฑิต” จึงหมายถึง ผู้ทรงความรู้ทางกฎหมาย, ผู้มีปัญญาทางกฎหมาย และเป็นนักปราชญ์ทางกฎหมาย ดังนั้น ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นเนติบัณฑิตจึงต้องปฏิบัติหน้าที่โดยใช้ความสามารถและวิจารณญาณของตนเองอย่างเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ใด อันจะทำให้ได้รับความเชื่อถือ เกียรติยศ และความไว้วางใจจากบุคคลทั่วไปว่าเป็น “บัณฑิต” ที่มุ่งมั่นรับใช้แผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง”
ข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ และ website
รวมข่าวตัดที่สัมภาษณ์ดร.อิสสระ เช่น “บนเส้นทางสายยุติธรรม” 4 ปี ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น