ระลึกถึงอาจารย์ดร.อิสสระ ครูบาอาจารย์ทางกฎหมายที่น่านับถือ
ในช่วงประมาณปี 2524-2525 ท่านศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม อาจารย์ ดร.เฉลิมชัย วสีนนท์ อาจารย์ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ และผม (ดร.โภคิน พลกุล) ได้มีการพูดคุยหารือกันเพื่อจัดตั้งสมาคมกฎหมายมหาชน โดยมุ่งหวังที่จะเห็นการพัฒนากฎหมายมหาชนอย่างเป็นระบบ และหลังจากก่อตั้งแล้ว จะพูดคุยและกินข้าวกันทุกเดือน เพื่อหารือเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของสมาคม โดยเวียนกันเป็นเจ้าภาพ เช่น ที่ร้านพงหลี อาจารย์อิสสระจะเป็นเจ้าภาพ หรือที่กรมสรรพสามิต อาจารย์เฉลิมชัยจะเป็นเจ้าภาพ
อาจารย์อิสสระเป็นผู้ผลักดันที่สุดมาตั้งแต่เริ่มแรกในการให้กฎหมายมหาชนมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ด้วยความหวังว่าถ้ากฎหมายมหาชนมีการพัฒนาอย่างแข็งแกร่งแล้ว ประเทศไทยจะตั้งอยู่ในระบบบนิติรัฐและนิติธรรมอย่างแท้จริง ฝ่ายปกครองต้องเคารพกฎหมายและไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจได้
ในช่วงที่อาจารย์อิสสระเป็นนายกสมาคมฯท่านเป็นคนที่very active มาก การจัดกิจกรรมของสมาคมฯ ในช่วงนั้นไม่เฉพาะแต่เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีการจัดกิจกรรมสัมมนาวิชาการไปสู่ภูมิภาคทั้ง 4 ภูมิภาคเพื่อขยายผลกิจกรรมของสมาคมในวงกว้าง
ผมรู้จักอาจารย์อิสสระครั้งแรกในโอกาสที่ท่านมาสอนพิเศษที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ผมเพิ่งเป็นอาจารย์ประจำใหม่ๆหลังจากจบปริญญาเอกสาขากฎหมายมหาชนจากมหาวิทยาลัยปารีสสอง ท่านมีความเป็นกันเอง และชอบที่จะพูดคุยกับอาจารย์รุ่นใหม่ที่จบด้านกฎหมายมหาชน ท่านพูดกับผมว่า ตอนนี้ผมทำงานเกี่ยวข้องกับกฎหมายการคลังเป็นส่วนใหญ่ แต่ในด้านความรู้กฎหมายปกครองและกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องถามอาจารย์โภคินที่ท่านเพิ่งสำเร็จการศึกษา ความรู้ของอาจารย์จะทันสมัยกว่าผม
แม้อาจารย์อิสสระจะมีภารกิจหน้าที่ราชการที่มากแต่ท่าน
เสียสละมาเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อย่างต่อเนื่องร่วมกว่า 20 ปี และมีผลงานวิชาการที่โดดเด่น ผมจึงได้เสนอคณะฯ ให้มีการขอตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษให้อาจารย์อิสสระ ซึ่งท่านดีใจมากที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปี 2535
ผมประทับใจอาจารย์อิสสระมากท่านมีน้ำใจมีเมตตาดูแลคนรอบข้างและมีมุมสนุกสนานท่านทำงานหนักและมีอายุมากกว่าผมถึง20 ปี แต่ในการทำงานของท่าน ท่านจะค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียดและทันสมัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ท่านเป็นนักกฎหมายที่มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์มาก (very scientific) ที่นักกฎหมายควรเอาเป็นแบบอย่าง เนื่องจากนักกฎหมายที่ดีจะต้องมีความคิดแบบวิทยาศาสตร์จึงจะยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรม
หากนักนิติศาสตร์รุ่นใหม่จะหาIdol สักคน ผมเห็นว่าคนๆ นั้นคือ อาจารย์อิสสระ ผู้ที่ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม ท่านยึดมั่นในหลักการกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่เปลี่ยนแปลงหรือไม่แกว่งโอนเอนไปนอกหลักการทางกฎหมาย ท่านเป็นบุคคลที่ผมภูมิใจที่ได้รู้จัก ทำงาน และรับใช้ท่าน และไม่ผิดหวังแม้แต่นิดเดียวที่นับถือท่านเป็นครูบาอาจารย์ทางกฎหมาย
อาจารย์อิสสระเป็นคนที่สมบูรณ์แบบอยู่ในธรรมปฏิบัติการดำรงชีวิตของท่านเป็นแบบอย่างที่งดงามทั้งต่องานที่ทำภรรยาครอบครัวเพื่อนฝูงและพี่น้องเช่นเดียวกับท่านอาจารย์ปรีดีพนมยงค์”
รศ.ดร.โภคิน พลกุล
อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด รองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ประธานรัฐสภา
มีนาคม, 2565