“ดร.อิสสระ  สุภาพบุรุษนักวิชาการ”   

ผมได้พบท่านอาจารย์ ดร.อิสสระ  นิติทัณฑ์ประภาศ ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สมัยเมื่อมหาวิทยาลัยได้เรียนเชิญท่านมาเป็น”เกตุทัตศาสตราภิชาน”ระหว่างปี พ.ศ. 2546-2548 และผมเป็น”สุทธิพิทักษ์ศาสตราภิชาน “ในช่วงเวลา 2546 ที่ซ้อนกับท่าน  

ตำแหน่งดังกล่าวคือ Chair Professor ของฝรั่ง ท่านนายกสภามหาวิทยาลัย คือ ศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต  เป็นผู้ริเริ่มและได้รับการสนับสนุนจากสองครอบครัวผู้เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยคือ “สุทธิพิทักษ์” และ “เกตุทัต”  ผู้ที่ได้รับเชิญสามารถศึกษาวิจัยเรื่องใดก็ได้ตามความปรารถนา

“สุทธิพิทักษ์ศาสตราภิชาน”ท่านอื่น ๆ ก็ได้แก่ ดร.เสรี พงศ์พิศ   ดร.ภาพร เอกอรรถพร   ส่วน”เกตุทัตศาสตราภิชาน” ท่านอื่น ๆ ก็ได้แก่ ดร.บุญเลิศ เลียวประไพ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว  และ “ปรีดี พนมยงค์ศาสตราภิชาน ” ก็ได้แก่  ดร.อัมมาร สยามวาลา  และ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ในช่วงเวลา 2547-2549 ผมทำงานในตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ดังนั้นผมและคณาจารย์จึงได้มีโอกาสรับประทานอาหารกลางวันกับท่านอยู่เนือง ๆ    ผมได้ยินชื่อเสียงท่านมานานแล้วในเรื่องความรู้ความสามารถ    ความซื่อสัตย์สุจริตและความเมตตาที่ท่านมีให้ทุกคน  เมื่อผมได้พบและรู้จักท่านมากขึ้นก็ยิ่งรู้สึกนับถือ และรู้สึกใกล้ชิดท่านเพราะผมคุ้นเคยกับพี่ผาณิตภรรยาของท่าน    เอก และโอ๋ (ลูกชายและลูกสาว) มาก่อนที่จะพบท่าน

โดยเนื้อแท้แล้วท่านอาจารย์อิสสระเป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย    ท่านพูดไม่มากแต่เมื่อพูดแล้วท่านสามารถทำให้ผมเข้าใจประเด็นกฎหมายที่ซับซ้อนได้ชัดเจนขึ้น (ถึงแม้จะไม่หมดทุกประเด็นก็ตาม)    ในช่วงเวลาของการเป็น”เกตุทัตศาสตราภิชาน”  ท่านได้ศึกษาและเขียนบทความวิชาการหลายเรื่องถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาที่ท่านอยู่ในวัย 70 ปี และผ่านงานหนักจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วก็ตาม

คุณลักษณะหนึ่งของท่านอาจารย์ที่ผมสังเกตเห็นก็คือความเป็นสุภาพบุรุษของท่าน ท่านเป็นคนสุภาพ   มีมารยาท    ให้เกียรติผู้อื่นเสมอไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อ่อนด้อยกว่าในด้านวัยวุฒิ ปัญญา หรือความรู้  ท่านรับฟังเสมอด้วยความเคารพและด้วยความเมตตาถึงแม้อาจจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

ท่านมักเล่าเรื่องเก่า ๆ เกี่ยวกับราชการที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเพื่อเป็นบทเรียนสอนพวกเราพร้อมกับแทรกข้อคิดที่เป็นประโยชน์     ท่านมิได้เล่าอย่างตำหนิติเตียนผู้ใดเป็นการเฉพาะ  หากอยากให้คนรุ่นหลังได้รับทราบไว้เป็นประวัติศาสตร์เท่านั้น ความเป็นสุภาพบุรุษของท่านตรึงอยู่ในความรู้สึกและทำให้ผมและเพื่อน ๆได้เลียนแบบ  เช่นเดียวกับการยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต  ความมีคุณธรรม  ความมีเมตตาธรรม  และความเป็นสุภาพบุรุษ  ท่านมิได้สอนเราด้วยคำพูดตรง ๆ แต่ท่านกระทำให้เราดูเป็นตัวอย่าง

ผมขอกราบระลึกถึงคุณงามความดีของท่านที่ได้ทำให้แก่สังคมของเรา และขอกราบบูชาคุณความดีทั้งหมดที่ท่านได้ทำให้เราเห็นเพื่อยึดเป็นแนวทางต้นแบบในชีวิต

กราบท่านอาจารย์ด้วยความรักและความเคารพอย่างสูง      วรากรณ์  สามโกเศศ
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
มีนาคม, 2564