ผมได้เขียนบทความ “ความช่วยเหลือของศิษย์เก่ากับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ที่ให้ความช่วยเหลือเรื่องงบประมาณในระยะแรกของการก่อตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระยะเริ่มแรกในปี พ.ศ. 2532 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญทำให้ได้ก่อตั้งสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ในเวลาต่อมา
“…ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนั้น (ประมาณปี 2531) คือจะหาเงินหรือทรัพยากรจากที่ไหนมาใช้พัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ในที่นี้จะขอกล่าวถึงคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ได้รับการหนุนช่วยจากศิษย์เก่าด้านงบประมาณในระยะเริ่มแรก…
แผนการพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเริ่มต้นด้วยการวางรากฐานเป็นคณะวิชาขนาดใหญ่ และรับคนเข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก จนสามารถขยายการพัฒนาสืบเนื่องต่อไป โดยกำหนดจำนวนนักศึกษาที่รับเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีปีละ 500 คน แต่ได้รับการคัดค้านจากเจ้าหน้าที่วิเคราะห์งบประมาณในครั้งแรก เพราะต้องการประหยัดการใช้จ่ายทางด้านงบประมาณ และเสนอให้มหาวิทยาลัยรับเข้าศึกษาปีละ 250 คน เพราะเป็นการเปิดสอนเป็นครั้งแรก และไม่มีรากฐานทางด้านเทคโนโลยีมาก่อน
มหาวิทยาลัยได้ให้เหตุผลโต้แย้งกลับไปว่า ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวนมาก เศรษฐกิจของประเทศได้ขยายตัวในอัตราที่สูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่มีชื่อเสียง และมีขีดความสามารถในการพัฒนาได้มาก…
ท่านรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณในขณะนั้น ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ ท่านเข้าใจเหตุผลของมหาวิทยาลัยและความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ท่านได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งมีผลต่อการได้งบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ในระยะเริ่มแรก พอจะสรุปได้ว่า
คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันงบประมาณเพื่อสร้างกลุ่มอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ 4 หลัง พร้อมโครงสร้างพื้นฐาน (ประปา-ไฟฟ้า) วงเงินค่าก่อสร้าง 345 ล้านบาท โดยมีขนาดพื้นที่ 36,015 ตารางเมตร
ด้วยขนาดพื้นที่ขนาดใหญ่ และสาธารณูปโภคในระยะเริ่มแรกนั้น ทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์มีรากฐานการขยายความเจริญเติบโตอย่างมั่นคง จนเป็นคณะวิชาขนาดใหญ่ในปัจจุบัน และด้วยโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีศักยภาพในการขยายการผลิตวิศวกรในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและได้รับความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Grant Aid) จากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น และการก่อตั้ง SIIT หรือสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ
สิรินธรในเวลาต่อมา (ดูบทความ Professor Fumio Nishino ประกอบ)