หลักการว่าด้วยความเสมอกันเบื้องหน้ากฎหมาย (Equality before the law)

บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ มีที่มาจากปรัชญาทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นในคริสศตวรรษที่ 18 ในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในทวีปยุโรป

ภายหลังการปฏิวัติปี ค.ศ. 1789 ประเทศฝรั่งเศสได้ประกาศปฏิญญาสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 (La Déclaration des droits de l’homme et du citoyen 1789)

ปฏิญญาดังกล่าวได้บัญญัติไว้ในมาตราที่หนึ่ง ดังนี้

” Les hommes naissent et demeurent libres et égaux en droits. Les distinctions sociales ne peuvent être fondées que sur l’utilité commune.”

บทบัญญัติดังกล่าวถอดความเป็นภาษาไทยได้ดังนี้

“บุคคลทั้งหลายเกิดมาและดำรงอยู่อย่างเสรีและมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่บนพื้นฐานของประโยชน์ร่วมกันของพลเมือง”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 12 ว่า

“ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ประกาศใช้ในภายหลังทุกฉบับได้รับรองหลักการดังกล่าว โดยที่หลักการว่าด้วยความเสมอกันในกฎหมายของบุคคลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีที่มาจากปฏิญญาสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 ของฝรั่งเศส

อ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็มที่ 34-53/2543

ความหมายของความเสมอกันในกฎหมาย

ในทางทฤษฎีกฎหมายรัฐธรรมนูญ ความเสมอกันในกฎหมาย มีความว่า กฎหมายที่ใช้บังคับแก่พลเมืองทั้งหลายต้องเป็นอย่างเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่คุ้มครองหรือลงโทษบุคคล

อ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็มที่ 56/2543

 

การได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

มีความหมายว่า “บุคคลทุกคนที่ถูกละเมิดสิทธิที่กฎหมายรับรองไว้ย่อมได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน”

เช่น ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติออกประกาศกำหนดให้สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้เกินร้อยละ 15 ต่อปีได้ แต่ไม่เกินร้อยละ 21 ต่อปี ถ้าปรากฏว่าสถาบันการเงินใดคิดดอเบี้ยจากผู้กู้เกินร้อยละ 21 ต่อปี ผู้กู้ทุกคนย่อมปฏิเสธการจ่ายดอกเบี้ยในอัตรานั้นได้ หากเจ้าหนี้ฟ้องศาลเพื่อบังคับให้ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว ผู้กู้ทุกคนก็มีสิทธิอ้างประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังกล่าวซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเป็นข้อต่อสู้ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ย่อมถือได้ว่าผู้กู้เงินจากสถาบันการเงินทุกคนเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

อ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็มที่ 5/2542

ที่ 10/2542

ที่ 42-43/2542

ที่ 56/2543