บัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจศึกษางานเขียนของดร.อิสสระ ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี ได้เขียนบทความ “ชีวิตการงานด้วยความซื่อสัตย์ในหน้าที่” เพื่อระลึกถึงชีวิตและผลงานของท่าน

“ศาลรัฐธรรมนูญพึงธำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระและความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และมุ่งพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องต่าง ๆ ตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันซึ่งประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเชื่อถือ”

นี่คือวิสัยทัศน์ที่ศ.ดร.อิสสระ เคยให้ไว้เมื่อดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. 2545 เป็นภาพสะท้อนตัวตนของ ดร.อิสสระ ผู้มีความมุ่งมั่นและซื่อสัตย์ในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นที่ประจักษ์ได้เป็นอย่างดี…

นักกฎหมายมหาชนผู้รอบรู้

….ท่านเป็นผู้บุกเบิกการเขียนตำรากฎหมายปกครองเปรียบเทียบของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2521 โดยเปรียบเทียบกฎหมายปกครองของฝรั่งเศสกับอังกฤษ  ซึ่งเป็นเรื่องที่ทันสมัยมากในยุคนั้น…

ความเป็นผู้รู้ทางกฎหมายมหาชนของ ดร.อิสสระ ไม่ใช่แต่เพียงจากการศึกษาตำราจำนวนมากเท่านั้น แต่มาจากประสบการณ์ที่ท่านสั่งสมมาจากการทำงานในตำแหน่งราชการอีกด้วย

จะเห็นได้จากในบทความหนึ่งที่ชื่อว่า “การใช้ถ้อยคำ ‘แปรญัตติ’ ที่ไม่ถูกต้อง” ท่านได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างการแปรญัตติกับการชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎรหรือในกรรมาธิการว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นเรื่องเล็กน้อย  ทว่า สิ่งเล็กน้อยนี้สะท้อนความละเอียดรอบคอบ และความใส่ใจต่อการใช้ถ้อยคำทางกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักกฎหมายสมัยนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญอีกแล้ว แต่กลับนิยมเล่นแร่แปรถ้อยคำไปมาเพียงเพื่อบริการผู้มีอำนาจทางการเมือง

นักกฎหมายการคลังผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณ

…..ความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการงบประมาณของท่านนั้น ปรากฏอยู่ในความเห็นตามบทความหนังสือพิมพ์หรือบทความวิชาการเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณที่ท่านได้ชี้แจงถึงความเข้าใจคลาดเคลื่อนอันเกิดมาจากความสลับซับซ้อนของเทคนิคทางงบประมาณ ซึ่งบ่อยครั้งเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนำตัวเลขเงินคงคลังมาแถลงให้สื่อมวลชนทราบ หรือนำมากล่าวอ้างในโอกาสต่าง ๆ ในทำนองชี้ให้เห็นว่า การคลังของประเทศมีเสถียรภาพดี แต่มิได้อธิบายให้ประชาชนได้รู้ว่า “เงินคงคลัง” นั้นคืออะไร ทำให้คนทั่วไปจึงต้องเดาเอาเองว่าเงินคงคลัง คือ เงินที่รัฐบาลได้สะสมไว้เป็นเงินสำรองเพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง…

ด้วยความเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านงบประมาณที่หาจับตัวได้ยากนี้เอง ทำให้ท่านได้มีโอกาสเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์และวารสารต่าง ๆ อยู่หลายครั้ง เพื่อคอยย้ำเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงงบประมาณของประเทศ ดังเช่นในบทความที่ชื่อว่า “วัวหายล้อมคอก – บทเรียนจากการอภิปรายงบประมาณ”  วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการปรับลดงบประมาณรายจ่ายโดยกรรมาธิการวิสามัญเพื่อไปจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายของโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการในบางจังหวัดที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อหวังสร้างความนิยมในกลุ่มฐานเสียงของตนเอง ซึ่ง ศ.ดร.อิสสระ ได้วิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนี้ ศ.ดร.อิสสระ ได้เสนอแนะให้มีการสร้างกลไกทั้งในวิธีการทางนิติบัญญัติ และในวิธีการในทางบริหาร ซึ่งถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมาก เพราะปัญหาดังกล่าวในปัจจุบันนี้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้กำหนดห้ามการกระทำดังกล่าวเอาไว้ชัดเจน

ศาลรัฐธรรมนูญกับการสร้างความเชื่อมั่น

….ดร.อิสสระ เป็นผู้หนึ่งที่ตระหนักดีถึงบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน … นอกจากนี้มื่อได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ดังได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งที่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ความเป็นอิสระและความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง และตุลาการทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตด้วยเกียรติยศในวิชาชีพนักกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและผู้เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการควรยึดถือไว้ โดยเฉพาะท่ามกลางยุคทมิฬที่มาร ครองเมืองและนักกฎหมายส่วนใหญ่ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับอำนาจ และรับใช้ผู้มีอิทธิพลโดยบิดเบือนหลักการทางกฎหมายเช่นปัจจุบันนี้

ศ.ดร.อิสสระ ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว แต่ด้วยความมุ่งมั่นและซื่อสัตย์ในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นที่ประจักษ์นั้นได้เป็นวิถีทางสำหรับคนรุ่นถัดไปได้เลือกเดินตาม บนวิถีทางของการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระลึกถึงหลักการและหน้าที่ของตน”