“เปิดใจ อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ 30 ปี บนถนนสายยุติธรรม”
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง 17 ตุลาคม 2545
ระยะเวลา 5 ปีกว่าที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้มีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานด้านต่างๆ ของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญที่ถือได้ว่าเป็นศาลผู้ยุติความขัดแย้งในข้อกฎหมายขององค์กรต่างๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดซึ่งการทำงานขององค์กรอิสระที่ผ่านมาก็มีหลายเรื่องที่มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในวันนี้เราจึงนำบทสัมภาษณ์ นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ซึ่งเพิ่งจะหมดวาระไปสดๆ ร้อนๆ มาเสนอให้ผู้อ่านทั้งหลายได้เห็นมุมมองของผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้มากว่า 30 ปี
นายอิสสระ เริ่มต้นเท้าความถึงตอนที่ท่านเข้ามาดำรงตำแหน่งตั้งแต่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จนขึ้นเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเรื่องต่างๆ ที่เข้ามาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยประมาณปีละ 70 เรื่อง ในช่วงแรกส่วนใหญ่คดีที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2539-40 ในสมัยที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และธนาคารปล่อยสินเชื่อไปมาก ซึ่งถือว่าเป็นยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ ผู้ประกอบการก็ไปกู้เงินธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ แต่พอถึงกำหนดชำระหนี้แล้วไม่ชำระก็โดนฟ้องให้ศาลบังคับชำระหนี้ ดังนั้น จำเลยก็ต่อสู้ว่าในช่วงประมาณปี 2540 มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อที่จะให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ เช่น พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจ เครดิตฟองซิเอร์ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เหล่านั้นสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ได้ ตามภาวะเศรษฐกิจ สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ ที่ให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ได้ดอกเบี้ยมากกว่าร้อยละ 15 ซึ่งผู้กู้มักจะเป็นบริษัทผู้ประกอบการก็ไม่โต้แย้งอะไรที่ธนาคารเก็บดอกเบี้ยอัตราสูง พอโดนฟ้องให้ชำระนี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะสู้ในข้อเท็จจริงไม่ได้ ก็เลยไปอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 264 วรรค 1 ที่ระบุว่าในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่า บทบัญญัติกฎหมายขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญก็ให้ศาลส่งเรื่องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ด้วยสาเหตุนี้จึงมีเรื่องอย่างนี้เข้ามามาก ดังนั้น ต้องใช้เวลาในการพิจารณาเรื่องกินระยะเวลานานเป็นปี ทำให้เหมือนกับว่าเป็นการเตะถ่วงของพวกลูกหนี้
ดังนั้น ในตอนท้ายที่ใกล้จะครบวาระ ท่านจึงพิจารณาในมาตรา 264 วรรค 2 ระบุว่ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งนั้นไม่เป็นสาระ ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับพิจารณาก็ได้ ก็เอาตรงนี้มาใช้ พูดง่ายๆ บางทีมันไม่เกี่ยวข้องก็มีการผูกพันให้เกี่ยวข้องก็มี ศาลยุติธรรมก็ทยอยส่งเรื่องมาเรื่อยๆ เพราะเราไม่สามารถปฏิเสธได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนด แต่ในวรรค 2 เปิดช่องว่า ถ้าไม่เห็นสาระจะไม่รับก็ได้ เช่น ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลายในสมัยที่เศรษฐกิจเติบโตมาก มีการกู้เงินจากสถาบันการเงินมาลงทุนกันมาก พอเศรษฐกิจฟองสบู่แตกไม่มีเงินจ่ายก็โดนฟ้อง ลูกหนี้ต่างๆ ที่เป็นเงินจำนวนมากๆ เขาก็ต้องป้องกันผลประโยชน์ของเขา ถ้าหากทิ้งไว้ก็จะกลายเป็นกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้เสียก่อน เขาก็เลยฟ้องล้มละลายลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว
ทีนี้การฟ้องล้มละลายในคดีของศาลทำให้รัฐบาลเห็นว่าหากปล่อยให้ล้มละลายคนที่เป็นหนี้จะยิ่งแย่ คนงานก็ตกงานเพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น บริษัทปูนทีพีไอ ดังนั้น รัฐบาลก็เลยแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ล้มละลาย เพื่อต้องการให้มีการฟื้นฟูกิจการได้ เพราะหากสำเร็จก็อาจทำให้เจ้าหนี้ของคนล้มละลายได้เงินคืนมากขึ้น รัฐบาลได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่จะให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะเจ้าหนี้มีทั้งเจ้าหนี้รายย่อยและเจ้าหนี้รายใหญ่ เช่น บริษัทจัดสรรที่ดินก่อสร้างอาคารก็จะมีทั้งลูกหนี้รายย่อยที่ผ่อนเงินซื้อไว้แต่บ้านไม่เสร็จและเจ้าหนี้รายใหญ่ก็จะเป็นพวกที่ขายอุปกรณ์ก่อสร้างหรือธนาคารที่ไปกู้เงินมาลงทุน พอ พ.ร.บ.ล้มละลายที่แก้ไขเพิ่มเติมแบบว่าการที่จะให้ศาลสั่งการฟื้นฟูกิจการได้ต้องพิจารณาว่าเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 50 เห็นสมควรให้ฟื้นฟูได้ ส่วนเจ้าหนี้จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ที่มีไม่ถึง แต่รวมตัวกันแล้วเกินร้อยละ 50 ยอมให้ฟื้นฟู ศาลก็จะสั่งให้มีการฟื้นฟูได้แทนที่จะบังคับเอาทรัพย์สินขายทอดตลาด พอสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้กฎหมายล้มละลายบอกอีกว่าจะต้องมีการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อจัดทำแผนเสร็จจะต้องให้ศาลเห็นชอบด้วยศาลจึงสั่งให้ฟืนฟูได้ ซึ่งในกฎหมายล้มละลายบอกว่าการฟื้นฟูจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้จำนวนเกินกึ่งหนึ่งแล้วหนี้ของผู้ที่ให้ความเห็นชอบต้องเกินร้อยละ 50 ซึ่งเป็นหลักสากลทั่วไปตามความยุติธรรมก็คือ เจ้าหนี้จำนวนมากที่มีหนี้มากอาจจะมีสัก 10 ราย แต่เจ้าหนี้รายย่อยมี 50 ราย แต่ 50 ราย รวมกันแล้วหนี้น้อยกว่ารายใหญ่ก็ไม่เป็นธรรม กฎหมายเลยบอกว่าต้องเจ้าหนี้เกินกว่าร้อยละ 50 และหนี้เกินกว่าร้อยละ 50 ด้วย ศาลจึงจะรับการฟื้นฟู การที่บัญญัติกฎหมายอย่างนั้นก็ขัดกับรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่ที่ร้ายที่สุดเขาบอกว่า หนี้สินเกินร้อยละ 50 ขึ้นไปที่มีลูกหนี้อ้างว่าเป็นการเลือกปฏิบัติขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ว่าด้วยบุคคลไม่เสมอกัน ต่อมาก็มีพวกลูกหนี้รายย่อยมาเป็นโจทก์ยื่นคำร้องว่า การเอาแต่คนที่มีหนี้สินมากอย่างเจ้าหนี้รายใหญ่ๆ ก็เหมือนกับว่าพวกเจ้าหนี้รายย่อยเป็นเหมือนสิ่งของไม่ใช่บุคคล ก็เป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ตนเห็นว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นศัพท์ทางปรัชญาทางการเมืองสมัยโบราณช่วง ค.ศ.16-17 เกิดปรัชญาทางการเมืองขึ้น การปฏิบัติใดใดต่อมนุษย์และสิ่งไม่คู่ควรกับมนุษย์คือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตนก็อธิบายให้ฟังว่าเหมือนกับผู้ต้องโทษต้องกินแกลบแทนข้าว เวลาอธิบายไปแล้วหรือว่าเราว่าผู้ต้องโทษให้นุ่งกางเกงในตัวเดียว ไม่ให้ใส่เสื้อผ้า ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่คู่ควรกับความเป็นมนุษย์
ซึ่งต่อไปการวินิจฉัยจะเป็นบรรทัดฐานมากขึ้นหากขัดกับมาตรานั้นที่เคยพิจารณาไปแล้ว เรื่องที่ต้องแก้ไขตรงนี้คงจะหมดไป คงจะน้อยลง เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะผูกพันธกับองค์กรของรัฐ ซึ่งเวลานี้ศาลรัฐธรรมนูญได้ไล่ไปเกือบทุกมาตราแล้ว ตุลาการที่เข้ามาใหม่ก็คงจะเบาลง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ได้วางรากฐานชัดเจนในเรื่องมาตรา 266
กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญตั้งมาใหม่ เมื่อปี 2541 ก็มีเรื่องเข้ามาที่ศาล ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ไม่ได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นไว้ ซึ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดไว้ว่า สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจะอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 4 ปี ก่อนที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้มี พ.ร.บ.เทศบาลก่อนหน้านั้น กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาล 5 ปี พวกนี้ก็ร้อนตัวว่าจะต้องพ้นไป 4 ปี ก็เลยยืนยันให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะอยู่กี่ปี ผมเองก็คัดค้านว่าอันนี้ไม่ใช่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรตามรัฐธรรมนูญคือองค์กรที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญแล้วมีชื่อตรงกันกับรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ เช่น กกต. คณะกรรมการสิทธิและมนุษยชน อันนั้นมีข้อความตรงตามรัฐธรรมนูญ คือเขาให้ความเป็นอิสระแต่เทศบาลไม่ใช่องค์กรตามศาสรัฐธรรมนูญ ถือว่ารัฐธรรมนูญรองรับว่าท้องถิ่นมีสิทธิปกครองตนเองและก็มีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ได้บอกว่ามีเทศบาล ซึ่งมันต้องไปออกกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรท้องถิ่น
ศาลในประเทศไทยมีการแบ่งแยกศาลออกเป็นหลายประเภท โดยของเรามีต้นแบบของศาลฝรั่งเศส แบ่งเป็น 2 พวก 1.ศาลที่มีอำนาจพิพากษาคดีทั่วไป 2.ศาลที่มีอำนาจพิจารณาเฉพาะคดีหรือเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เพราะสำหรับประเทศไทยชัดเจนมาตรา 271 ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษา คดีทั้งปวงแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลอื่น เพราะฉะนั้นเราถือว่าศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาคดีทั่วไป หมายความว่าถ้าไม่มีกฎหมายแม่บทหรือรัฐธรรมนูญ ไม่บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลอื่นก็ต้องเป็นศาลยุติธรรม ศาลเฉพาะคดี ศาลปกครอง
ผมมองว่าขณะนี้ประชาชนยังไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในอนาคตหลังจากปลดเกษียณแล้วอาจจะเขียนบทความที่ว่าถึงบทบาทของศาลแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็น ศาลทั่วไปคือศาลยุติธรรม ศาลพิเศษคือศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง นอกจากนั้น ก็จะไปเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่มหาวิทยาลัย เช่น ที่ ม.ธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่ ม.รามคำแหง
และเนื่องจากผมเรียนทางด้านกฎหมายมหาชนมาโดยเฉพาะ ดังนั้น จึงมีความคิดอยากเขียนคำวินิจฉัยเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญของตุลาการแต่ละบุคคล จะเอาแต่เฉพาะที่ขัดกันและขัดแย้งกับคำวินิจฉัยกลางและไม่ตรงกับของผม เพราะฉะนั้นจะได้เกิดเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาวินิจฉัยคดีที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน ซึ่งคดีที่จะเขียนเป็นในแง่ข้อกฎหมาย
ส่วนข้อเท็จจริงจะไม่นำมาเขียนเพราะไม่เป็นหลักสากล เช่น คดีซุกหุ้น ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ผมประทับใจในการตัดสินคดีกรณีที่ทาง ป.ป.ช.เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จงใจยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ซึ่งรู้สึกว่าคดีนี้เมื่อพิจารณาผลออกมาแล้วก็เป็นที่ยอมรับกับสาธารณชนทั่วไป และมติที่ประชุมก็มีเสียงเป็นเอกฉันท์ว่า พล.ต.สนั่น มีความผิดจริง
ทั้งนี้ ถึงแม้นายอิสสระ จะหมดวาระลงแล้วก็ตาม แต่ความตั้งใจที่อยากจะถ่ายทอดความรู้ด้านกฎหมายผ่านตัวหนังสือ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นเราคงต้องคอยติดตามดูท่านว่าจะวางบรรทัดฐานให้กับแวดวงกฎหมายบ้านเราได้อย่างไรบ้าง