รำลึกถึง “พี่อิสสระ”
“พี่อิสสระ” เป็นข้าราขการชั้นผู้ใหญ่ผู้เป็นที่เคารพยกย่องในวงกว้าง จึงมีผู้ร่วมแสดงความอาลัยอยู่มากหลายแล้ว ในส่วนของผมนั้น ขอร่วมอาลัยในการจากไปของ พี่อิสสระ หรือพี่อี๊ด ในฐานะที่ผมเป็นญาติ เป็นน้อง และเป็นลูกผู้น้อง
คุณพ่อของผม (โฆสิต เวชชาชีวะ) และคุณลุงพระบำราศนราดูร(หลง เวชชาชีวะ) เป็นลูกพี่ลูกน้องกับคุณลุงพระนิติทัณฑ์ประภาศ (สนอง สุจริต)คุณพ่อของพี่อิสสระ โดยคุณย่าของผม (ชุมพร สกุลเดิม สุจริต เวชชาชีวะ) เป็นน้องร่วมอุทรของคุณปู่
หลวงศรีรองเมือง (เง็ก สุจริต)คุณปู่ของพี่อิสสระ ทั้งสองมาจากครอบครัวเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน โดยท่านบิดามีฐานะเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยนามว่าขุนพัฒน์เก็ง ส่วนท่านมารดานั้นนามว่า บี จากตระกูลแซ่บ๊อก เชื้อสายจีนฮกเกี้ยนปนญวนของจังหวัดจันทบุรีเช่นกัน สกุลสุจริต ของขุนพัฒน์เก็ง(ท่านทวดของพี่อิสระ)สืบสายในชั้นบิดาถึงท่านต๋ายหรือไต๋ และมารดาของท่านต่ายนี้เป็นลูกพี่ลูกน้องกับบรรพสตรีของหลายตระกูลที่จันทบุรี อาทิเช่น เอครพานิช สุนทโรทัย บุณยัษฐิติ และอังศุสิงห์ ฯลฯ คุณปู่หลวงศรีรองเมืองจึงมีเครือญาติที่กว้างขวาง ท่านรับราชการส่วนท้องถิ่นอยู่นานปีในตำแหน่งปลัดเมืองจันทบุรี ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด ในสมัยปัจจุบัน ท่านได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากทางราชการซึ่งตั้งชื่อถนนใหญ่ในใจกลางเมืองว่า ถนนศรีรองเมือง ส่วนบ้านดั้งเดิมของตระกูลในย่านท่าหลวงใกล้แม่น้ำจันทบุรีนั้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงแรมเกษมสานติ์
คุณปู่หลวงศรีรองเมืองเป็นกุลเชษฐ์ของตระกูลให้ความเมตตาอารีแก่น้องๆรวมทั้งคุณย่าของผมด้วย ความรักใคร่กลมเกลียวกันนี้ได้สืบต่อมาถึงชั้นลูก
คุณลุงพระบำราศนราดูรจึงมีความสนิทสนมกับคุณลุงพระนิติทัณฑ์ประภาศ อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน บวชเณรพร้อมกันที่วัดจันทนาราม เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯพร้อมกัน และมีความผูกพันต่อกันตลอดชีวิต คุณลุงพระบำราศฯได้เขียนถึงความสัมพันธ์อันแน่บแน่นนี้ในบันทึกความทรงจำเพื่อให้ลูกหลานได้รับทราบและซึมซับไว้
คุณลุงพระนิติทัณฑ์ประภาศเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่ถึง๕๐ปีขณะรับราชการเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ลูกๆของท่านขณะนั้นยังอยู่ในวันเด็กเป็นส่วนมากพี่อิสสระนั้นอายุเพียง๗ปีเท่านั้นการเลี้ยงดูครอบครัวจึงตกเป็นภาระของภรรยาท่านคุณป้าชวนชื่น (สกุลเดิม พนมยงค์) เป็นสตรีที่มากด้วยความสามารถ ดูแลอบรมลูกอย่างเข้มแข็ง ให้การศึกษาอย่างดีเยี่ยมถ้วนหน้ากัน
ผมจำได้ว่าเมื่อยังเป็นเด็กได้ติดตามคุณแม่ไปเยี่ยมคุณป้าชื่นที่บ้านในซอยจินดาถวิลสี่พระยาได้พบกับพี่ๆที่บ้านนั้นบ้างแต่พี่ๆที่บ้านนั้นโตกว่าผมมากอยู่ในวัยขนาดพี่รุ่นโตที่บ้านผม พี่อิสสระนั้น รุ่นเดียวกับพี่นิสสัย จึงสนิทสนมคุ้นเคยกัน (พี่นิสสัยก็เพิ่งจากไปไม่ถึง ๑ เดือนภายหลังพี่อิสสระ) ต่อมา เมื่อคุณป้าชื่นย้ายไปอยู่บ้านที่ซอยบัณฑิต ถนนราชวิถี ผมก็ได้ไปกราบคุณป้าเป็นประจำในโอกาสขึ้นปีใหม่ ตอนนั้นพี่
อิสสระเรียนจบกลับมาจากฝรั่งเศสแล้ว พร้อมด้วยปริญญาเอกในด้านกฎหมายการคลัง คุณลุงพระบำราศฯได้กล่าวอย่างชื่มว่าพี่อิสสระจบวิชาอย่างเดียวกับท่านปรีดี พนมยงค์ คุณลุงของพี่อิสสระ ในการรับราชการ พี่อิสสระก็มิได้ทำให้ญาติผู้ใหญ่ผิดหวัง ตรงกันข้าม ได้แต่ชื่นชมในความสำเร็จอันงดงาม ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเกษียณอายุจากราชการประจำแล้ว
ถึงแม้พี่อิสสระต้องสูญเสียบิดาแต่ในวัยเยาว์แต่พี่อิสสระโชคดีมหาศาลที่ได้คุณแม่ผู้ทรงคุณอันประเสริฐเป็นเสาหลักค้ำจุนครอบครัวตลอดมาอย่างน่าชื่นชม พี่อิสสระยังประสบโชคอีกชั้นหนึ่งที่ได้คุณผาณิตเป็นภรรยาคู่บุญ ช่วยกันเลี้ยงดูบุตรทั้งชายหญิงจนมีหลักฐานมั่นคง รุ่งเรืองในหน้าที่การงาน เป็นศักดิ์เป็นศรีแก่วงศ์ตระกูลสืบไป
พี่อิสสระจากโลกนี้ไปด้วยอาการสงบตามอายุขัยท่ามกลางความอาลัยของครอบครัวและญาติมิตร ผมพร้อมด้วยเครือญาติขอร่วมอาลัย และขอตั้งจิตอธิษฐานด้วยความเชื่อมั่นว่าพี่อิสสระจะประสบแต่ความสุขสมบูรณ์อันเป็นผลของกุศลบุญราศีที่ได้บำเพ็ญไว้ในสัมปรายภพอย่างแน่นอน
วิทยา เวชชาชีวะ
อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
มีนาคม, 2564