ศ.ดร. อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ : ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทั้งหลาย ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญจากสถาบันพระปกเกล้า ให้มาพูดในโอกาสที่ได้มีการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรมาครบ 4 ปี เรื่องที่ผมจะพูดต่อไปนี้ก็คือ ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิรูประบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หัวข้อดังกล่าวอาจจะเห็นได้ว่าไม่เข้ากับการจัดสัมมนาในครั้งนี้ แต่ว่าผมเห็นว่าปัญหาและอุปสรรคต่อระบบของการปฏิรูปการเมืองนั้น ท่านอยู่บนพื้นฐานของความสำเร็จของการพัฒนาระบบการเลือกตั้งครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจ หน้าที่ การงานของท่านประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือท่านประธาน กกต. ผมก็หวังว่าท่านคงไม่ว่าอะไรนะครับ ขอให้ถือว่าเป็นการช่วยกันคิดก็แล้วกันครับ อย่างไรก็ดีก่อนที่ผมจะพูดถึงปัญหาดังกล่าว ผมขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 สักเล็กน้อย
ผมเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันนั้นมีเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาการเมืองของประเทศไทย ความเข้มแข็งบนพื้นฐานของระบบคุณภาพโดยเน้นหนักที่เลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ดังจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และ ส.ว. ไว้อย่างเข้มงวดมากที่เดียว ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้ได้คนดีมีคุณธรรมมาเป็น ส.ส. , ส.ว. ซึ่งจะให้คาดหวังได้ว่ารัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีคุณภาพและคุณธรรม นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญยังได้จัดตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรอิสระขึ้น เพื่อควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปในทางบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยให้มีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ส.ส. หรือ ส.ว. ผู้ใดได้กระทำการใด ๆ โดยไม่สุจริตหรือโดยเหตุอื่น ๆ ที่ได้ระบุไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2543 ได้เพิ่มเขี้ยวเล็บให้ กกต. กล่าวคือ มาตรา 85/1 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ขอพูดย่อ ๆ นะครับ ให้อำนาจที่จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ ส.ส. เป็นเวลา 1 ปีได้ ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งสอบสวนว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครคนใดได้ทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง การที่กล่าวมาข้างต้นก็จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จำเป็น ในการควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตยุติธรรม แต่ดังนั้นก็ตามก็ยังปรากฏว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ส. ภายหลังการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังมีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเกิดขึ้นมาก ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หลายครั้งหลายหนในเขตเลือกตั้งเดียวกันและได้มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครบางคนที่มีหลักฐาน อันน่าเชื่อถือได้ว่ามีความผิดตามมาตรา 85 วรรค 1 แม้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยในระหว่างการเลือกตั้งและประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแต่ก็ยังปรากฏว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อต้นปีนี้ก็ยังมีการกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งมากทีเดียวนะครับ ดังจะเห็นได้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครตามมาตรา 85 วรรค 1 หลายรายและยังมีเรื่องร้องเรียนค้างพิจารณา 300 กว่าเรื่อง ทั้งนี้ไม่รวมถึงการกระทำที่ทราบกันดีในหมู่ชาวบ้านในชนบทว่ามีการซื้อสิทธิขายเสียง แต่ไม่มีหลักฐานที่จะดำเนินการได้
ผมเห็นว่าปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยมานานแล้วที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะระบอบประชาธิปไตยของเราล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ทำให้ขาดความต่อเนื่อง ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะของสังคมไทย และอาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาทางด่านสังคมวิทยา ดังนั้นในทัศนะของผมนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยอาศัยมาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงจะทำให้การปฏิรูประบบการเลือกตั้งประสบความสำเร็จตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญได้ ผมจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่นักนิติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักสังคมวิทยาได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวข้างต้น เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จให้จงได้ ผมขอยุติการบรรยายเพียงเท่านี้ หวังว่าที่ผมพูดมาทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้ฟังบ้างนะครับ