1. กรณีการเลือกปฏิบัติระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลทั่วไป
- กรณีร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินฯ บัญญัติให้พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานดังเช่นบุคคลอื่นๆ ไม่ใช่กรณีการเลือกปฏิบัติ แต่เป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์อันพึงมีไ้ด้ของพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานฯ (คำวินิจฉัยที่ 37/2542 เรื่อง ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติ ประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. …. มีข้อความขัดต่อรัฐธรรมนูญเพื่อ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย)
- กรณีบทบัญญัติมาตรา 286 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง วรรค 1(2) กำหนดให้สิทธิเรียกร้องเป็นเงินของพนักงาน ลูกจ้างที่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐบาล ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โดยไม่มีบทบัญญัติให้เป็นดุลพินิจศาล และวรรค 1(3) กำหนดให้สิทธิเรียกร้องเป็นเงินของพนักงาน ลูกจ้างที่ไม่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐบาล ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เป็นจำนวนตามที่ศาลเห็นสมควร เป็นเหตุให้บุคคลที่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐบาล และบุคคลที่ไ่ม่ได้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐบาลไม่เสมอกันและไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน (คำวินิจฉัยที่ 34-53/2543 เรื่อง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 วรรคหนึ่ง (3) ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 30 หรือไม่ (นายสาธิต นครินทร์สาคร และผู้ร้องอื่น รวม 20 คำร้อง)
2.กรณีการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุทางสภาพทางกายหรือสุขภาพ และสิทธิของผู้พิการในการรับราชการบางตำแหน่ง
- กรณีถ้อยคำ “…หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสม” เป็นถ้อยคำที่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางในการพิจารณาว่าผู้สมัครคนใดมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวหรือไม่โดยไม่มีขอบเขตจำกัด จนกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้สมัครบางคนเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในสภาพทางกาย
(คำวินิจฉัยที่ 16/2545 เรื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 กรณีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ)
3. กรณีการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุความแตกต่างทางเพศ ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย
- กรณี ประมวลรัษฏากร มาตรา 57 ตรี (ให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของภริยาเป็นเงินได้ของสามีและให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี) และมาตรา 57 เบญจ (กำหนดให้ภริยาเท่าน้ันที่มีสิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินด้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) โดยมิให้ถือว่าเป็นเงินได้ของสามีตามมาตรา 57 ตรี) ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างคนโสดและคนแต่งงานแล้ว เนื่องจากมาตรา 57 ตรีและ 57 เบญจ เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้จากผู้มีเงินได้ที่มีภาระทางครอบครัว อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากยอมรับความแตกต่างในทางสถานะของบุคคลระหว่างผู้ที่เป็นคนโสดซึ่งไม่มีภาระทางครอบครัวกับผู้ที่สมรสแล้วซึ่งมีภาระทางครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุปการะเลี้ยงดูบุตรและภริยา ดังนั้น แม้บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวจะเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างคนโสดกับคนแต่งงานแล้วก็ตามแต่ก็เป็นการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม เพราะผู้ที่มีครอบครัวย่อมมีภาระในการใช้จ่ายเงินที่หามาได้มากกว่าคนโสดเพราะต้องเลี้ยงดูบุตรและภริยา (คำวินิจฉัยที่ 48/2545 เรื่อง ศาลภาษีอากรกลางส่งคำโต้แย้งของโจทก์ (นายราเชนทร์ เรืองทวีป) ในคดีหมายเลขดำ ที่ 229/2542 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 (กรณีประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 29 มาตรา 30 และมาตรา 80 หรือไม่)