ความทรงจำถึงอาจารย์อิสสระ

ผมเข้ารับราชการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในกองแผนงาน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในปี พ.. 2524 ซึ่งช่วงเวลานั้นประเทศไทยอยู่ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ที่เน้นในเรื่องการแปลงแผนลงสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างทางการเกษตรและการกระจายความเจริญสู่ชนบท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) โดยได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวางแผนและการจัดทำงบประมาณมาช่วยพัฒนาระบบงบประมาณแบบแผนงาน ซึ่งผมได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญจาก USAID นั่นคือ Mr. William Carlson ซึ่งเป็นจุดที่ผมได้มีโอกาสได้พบและ
ได้เรียนรู้กับท่านอาจารย์อิสสระนิติทัณฑ์ประภาศ

ในช่วงนั้นผมค่อนข้างแปลกใจเพราะผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศส่วนใหญ่จะต้องขอพบกับระดับนโยบายของหน่วยงานราชการ แต่ Mr. Carlson ได้ระบุอย่างเจาะจงที่จะขอพบกับอาจารย์อิสสระ
ซึ่งในช่วงนั้นท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิชาการ เป็นการเฉพาะ ซึ่งผมทราบในภายหลังว่า
การจัดทำงบประมาณแบบแผนงานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ จำเป็นที่จะต้องแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ที่มีความเข้าใจกับระบบราชการในประเทศนั้นเป็นอย่างดี และเป็นผู้ที่มีความรู้ในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีความรู้ด้านกฎหมายอย่างลึกซึ้ง ผมจำได้ว่า ในช่วงสองเดือนนั้น เราไม่ได้เพียงเข้าพบหารือกับอาจารย์เท่านั้น เรายังมีการประชุมร่วมกับส่วนราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หลายครั้ง และข้อเสนอในรายงานของผู้เชี่ยวชาญ Mr. Carlson ที่เสนอต่อกระทรวงฯก็ได้อ้างอิงข้อเสนอแนะของอาจารย์ในหลายหัวข้อผมได้เรียนรู้ได้เข้าใจถึงความพยายามของอาจารย์ที่ได้พยายามให้การใช้ทรัพยากรของรัฐได้ประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพในการสนับสนุนให้เกษตรกรมีแหล่งน้ำในการทำการเกษตรได้รับการส่งเสริมในการทำการเกษตรด้วยวิชาการที่เหมาะสมเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่พอเพียงที่จะยึดอาชีพการเกษตรในการดำรงชีวิต

อาจารย์อิสสระ เป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจให้ผมศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก และได้มีโอกาสเป็นข้าราชการ ทำงานโดยอาศัยหลักของความรู้และการสร้างประโยชน์เพื่อส่วนรวมเช่นเดียวกับอาจารย์ครับ

ดร.อำพน กิตติอำพน

องคมนตรี อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

มีนาคม, 2564